1. หน้าหลัก
  2. อัปเดตการตลาด
  3. 10 ขั้นตอนตรวจสอบ SEO เว็บไซต์ และวิธีเช็กอันดับฟรี ฉบับ 2024
10 ขั้นตอนตรวจสอบ SEO เว็บไซต์ และวิธีเช็กอันดับฟรี ฉบับ 2024
เผยแพร่เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2024 | แก้ไขเมื่อ: กรกฎาคม 26, 2024

10 ขั้นตอนตรวจสอบ SEO เว็บไซต์ และวิธีเช็กอันดับฟรี ฉบับ 2024

Table Of Contents

ถ้าคุณกำลังรู้ตัวว่าเว็บไซต์ของคุณมีปัญหาอยู่ ทั้งเขียนบทความ SEO ไปก็เยอะแต่ไม่ติดอันดับการค้นหาสักที หรือแม้แต่การปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อให้เหมาะกับ SEO แล้วก็ตาม คุณควรอ่านบทความนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะ ANGA จะมาบอกขั้นตอนการตรวจสอบ SEO เว็บไซต์ พร้อมวิธีการปรับปรับคุณภาพ เพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับบนหน้าการค้นหา รวมทั้งยังมีวิธีเช็กอันดับฟรีมาฝากผ่านบทความนี้นั่นเอง

การตรวจสอบ SEO คืออะไร? ทำไมต้องทำ

การตรวจสอบ SEO คือการตรวจสอบประสิทธิภาพของ SEO และคุณภาพของเว็บไซต์ ว่าสิ่งที่เราได้ดำเนินการไปในก่อนหน้านี้มันถูกต้องและดีพอแล้วหรือยัง มีอะไรที่ควรแก้ไขปรับปรุงหรือไม่ ซึ่งก็จะคล้าย ๆ กับการตรวจสุขภาพที่มีจุดประสงค์หลักคือการค้นหาจุดด้อย ข้อผิดพลาด และมองหาวิธีการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้สุขภาพกลับมาแข็งแรงขึ้นเช่นเดิม

เช่น การตรวจสอบโครงสร้างเว็บไซต์, ความเร็วการโหลดหน้าเว็บไซต์, ประสบการณ์ผู้ใช้งาน, ปัญหาทางเทคนิค (Technical SEO), เนื้อหาบนเว็บไซต์, On-Page SEO, อันดับเว็บไซต์ของแต่ละคีย์เวิร์ดบนหน้า SERP, การจัดทำดัชนี (Indexing), วิเคราะห์ Backlink, Mobile​ Friendly และอื่น ๆ อีกเพียบ

เมื่อคุณได้ตรวจสอบ SEO และปรับปรุงแก้ไขเว็บไซต์ให้ตรงกับอัลกอริทึมของ Google ที่อัปเดตใหม่ล่าสุดแล้ว คุณจะพบว่าอันดับ SEO ของคุณดีขึ้นจริง ๆ ส่งผลให้ Traffic ที่เข้ามาบนเว็บไซต์มากขึ้น ตามมาด้วย Conversion หรือยอดขายของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ฟังความคิดเห็นจาก SEO Specialist กันบ้าง

“การตรวจสอบ SEO จำเป็นมาก ๆ เลยนะครับ เพราะมันช่วยแก้ปัญหาเชิง Technical ได้เยอะมาก เช่น 404 Not Found, Orphan Pages, Noindex, Sitemap, Core Web Vitals ฯลฯ เพื่อให้เว็บไซต์พร้อมถูก Google นำไปจัดอันดับ เครื่องมือที่ใช้ก็จะมี Screaming Frog, Ahrefs, SEMrush, SERanking และ Google Search Console ครับ 

ส่วนความถี่ในการ Audit ก็จะขึ้นอยู่กับเว็บไซต์ครับ ถ้า Audit ครั้งแรกก็ต้องจัดเต็มเลย เช็กทุกซอกทุกมุม พยายามลด Issue ให้ได้มากที่สุด สำหรับเว็บไซต์ใหญ่ที่มีการอัปเดตเนื้อหาบ่อย ๆ ก็ควรหมั่นตรวจสอบ SEO เป็นประจำทุกเดือน หรืออย่างน้อย Quarter ละ 1 ครั้ง ส่วนเว็บไซต์เล็ก ๆ ไม่ได้อัปเดตเนื้อหาตลอด แนะนำให้ตรวจสอบทุก ๆ 6 เดือนครับ” – Piyawat Supsindumrong | Senior SEO Specialist at ANGA Bangkok

แชร์วิธีเช็กอันดับ SEO เว็บไซต์ฟรี! 

ก่อนที่จะเข้าไปสู่ขั้นตอนการตรวจสอบ SEO เว็บไซต์อย่างเต็มรูปแบบ เรามาลองเช็กอันดับ SEO บนหน้า Google กันก่อนดีกว่า ซึ่งการเช็กอันดับเว็บไซต์เป็นเหมือนการตรวจสอบ SEO ขั้นพื้นฐานเลยก็ว่าได้ เพื่อให้คุณรู้ว่าบทความ SEO ที่คุณได้โพสต์ลงไปนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ เอาชนะคู่แข่งได้หรือยัง และอยู่ที่อันดับเท่าไหร่ แน่นอนว่าอันดับที่ 1-3 เป็นตำแหน่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าจะให้เว็บไซต์ของคุณกระแทกสายตาและดึงดูดผู้ใช้งานจริง ๆ คุณอาจจะหวังให้เว็บไซต์ของคุณอยู่ในอันดับ 0 หรือติด Featured Snippet เสียมากกว่า

วิธีเช็กอันดับเว็บไซต์ด้วยตัวเองฟรี!

วิธีเช็กอันดับเว็บไซต์ฟรี แถมแม่นยำ ทำได้ง่าย ๆ ด้วย 3 ขั้นตอนข้างต้นนี้เลย! 

  1. เปิดเบราว์เซอร์ Google Chrome
  2. เข้าไปที่โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito Mode)
  3. พิมพ์คีย์เวิร์ดที่ต้องการตรวจสอบ SEO Ranking
วิธีเช็กอันดับเว็บไซต์ฟรี

เหตุผลที่เราแนะนำให้คุณเช็กอันดับเว็บไซต์จากโหมดไม่ระบุตัวตนเป็นเพราะว่าถ้าคุณค้นหาผ่านโหมดปกติที่คุณใช้งานเป็นประจำนั้น อัลกอริทึมจะนำเอาเว็บไซต์ที่คุณเข้าชมบ่อย ๆ อย่างเว็บไซต์ของคุณเอง มาแสดงอยู่ในอันดับที่สูงกว่าปกติ ทำให้ผลการค้นหาไม่แม่นยำเท่าที่ควร ดังนั้น การค้นหาผ่านโหมดไม่ระบุตัวตนจึงมีความแม่นยำมากกว่า เนื่องจากไม่มีการนำข้อมูล Cookies, Cache, ประสบการณ์ท่องเว็บไซต์, ข้อมูลส่วนตัว หรือการกระทำต่าง ๆ ในอดีตมาใช้วิเคราะห์เพื่อแสดงผลลัพธ์นั่นเอง

10 ขั้นตอนการตรวจสอบ SEO เว็บไซต์ พร้อมวิธีแก้ไข

10 ขั้นตอนการตรวจสอบ SEO เว็บไซต์ พร้อมวิธีแก้ไข

และนี่คือ 10 ขั้นตอนการตรวจสอบ SEO บนเว็บไซต์ว่ามีประสิทธิภาพที่ดีแล้วหรือยัง พร้อมวิธีแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ประสิทธิภาพของ SEO และเว็บไซต์ดียิ่งขึ้น

1. ตรวจสอบการจัดทำดัชนี (Index)

หลังจากที่อัปโหลดบทความหรือสร้างหน้าต่าง ๆ บนเว็บไซต์แล้ว คุณจะต้องตรวจสอบ SEO ในส่วนของการจัดทำดัชนีเสียก่อน ว่า Google มีการเข้ามาตรวจสอบและเก็บข้อมูลหรือยัง หากมีการจัดทำดัชนีแล้ว ก็มีโอกาสที่หน้าดังกล่าวจะติดอันดับการค้นหาสูง แต่ถ้ายังไม่จัดทำดัชนีก็แปลว่า Google ยังไม่เข้ามาเก็บข้อมูล (ยังไม่มีข้อมูลในระบบ) ทำให้ค้นหายังไงก็ไม่เจอหน้าเว็บไซต์ของคุณ

วิธีการตรวจสอบการจัดทำดัชนี

วิธีการตรวจสอบว่า Google ได้เข้ามาเก็บข้อมูลและจัดทำดัชนีหรือยัง สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการค้นหาผ่าน Google ให้พิมพ์ว่า site: ตามด้วย URL ของหน้าที่ต้องการตรวจสอบ ถ้าพบข้อมูลของหน้านั้นแปลว่าได้รับการจัดทำดัชนีแล้ว แต่ถ้าไม่พบก็แปลว่าคุณต้องเข้าไปแจ้ง Google ให้เข้ามาเก็บข้อมูลผ่าน Google Search Console

วิธีการแจ้งให้ Google เข้ามาจัดทำดัชนี

  • เข้าไปที่ Google Search Console
  • ใส่ URL หน้าที่ต้องการลงไปในช่องการค้นหา
  • กด “ขอจัดทำดัชนี”

ทั้งนี้ ถ้าคุณพบว่า Google ได้ทำการจัดทำดัชนีในหน้านั้นไปในระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ค้นหายังไงก็ไม่เจอสักที อาจจะเป็นเพราะว่าคุณภาพของเนื้อหาหรือประสิทธิภาพเว็บไซต์ของคุณยังสู้คู่แข่งไม่ได้ ลองตรวจสอบ SEO บนหน้าดังกล่าวว่ามีข้อผิดพลาดหรือไม่ เช่น ไม่มีการทำ Internal Link, คีย์เวิร์ดที่ใช้ซ้ำกับหน้าอื่น, เนื้อหาซ้ำกับหน้าอื่น หรือมีปัญหาเรื่องการโหลดหน้าเว็บไซต์อยู่หรือเปล่า

2. ตรวจสอบเนื้อหาซ้ำซ้อน (Duplicate Content)

Duplicate Content คือเนื้อหาที่ซ้ำกับหน้าอื่น ๆ บนเว็บไซต์เดียวกันหรือเว็บไซต์อื่น อาจจะเป็นประโยคยาว ๆ สักประโยค, เหมือนกันทั้งย่อหน้า, การเรียบเรียงเนื้อหา หรือรูปประโยคก็ได้ ซึ่งปัญหานี้มักจะพบได้บ่อยในเว็บไซต์ที่ทำการเขียนบทความโดยใช้ AI ล้วน ๆ หรือก็อบปี้เนื้อหามาจากที่อื่น ถึงแม้ว่าผู้โพสต์บนทั้งสองเว็บไซต์จะเป็นคุณเอง หรือบทความคุณโดนคนอื่นก็อบปี้ไปก็ตาม Google ก็ไม่ยอมแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นคนละ URL กัน

วิธีตรวจสอบ Duplicate Content

  1. เข้าไปที่ Google Search Console ใส่ URL หน้าที่ต้องการลงไปในช่องการค้นหา ถ้าเนื้อหาซ้ำ ระบบจะขึ้นข้อความว่า Duplicate
  2. นำประโยคที่ต้องการตรวจสอบไปค้นหาบน Google จากนั้นระบบก็จะแสดงเว็บไซต์ที่มีข้อความคล้ายคลึงกับประโยคที่คุณค้นหามาให้

3. ตรวจสอบ Meta Tags

Meta Tags หรือข้อความที่เอาไว้ใช้อธิบายเนื้อหาโดยสรุปของแต่ละหน้า เพื่อให้ Search Engine และผู้ใช้งานเข้าใจว่าใน URL ดังกล่าวจะพูดเกี่ยวกับอะไรบ้าง ซึ่งจะปรากฏอยู่บนหน้าแสดงผลการค้นหาของ Google เลย โดย Meta Tags ที่สำคัญมีดังนี้

  • Meta Title หรือ Title Tag : หัวข้อใหญ่ของหน้าเว็บไซต์
  • Meta Description : คำอธิบายเนื้อหาสั้น ๆ ของหน้าเว็บไซต์
  • Alternative Text (ALT) : คำอธิบายรูปภาพในหน้าเว็บไซต์

วิธีตรวจสอบ Meta Tags

  1. ตรวจสอบผ่านปลั๊กอิน Yoast SEO ของหน้าเว็บไซต์ดังกล่าว บนระบบหลังบ้านของ WordPress
  2. ใช้เครื่องมือ SEO ที่เป็น Extensions บน Google Chrome อย่าง SEO Meta in 1-Click

4. ตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหา

Google ค่อนข้างให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อหาบนเว็บไซต์ หากเว็บไซต์ไหนมีการใช้เนื้อหาที่มีคุณภาพก็จะทำให้อันดับเว็บไซต์ดีขึ้นไปด้วย อาติ การเขียนเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน, เขียนเนื้อหาที่เป็นความจริง, เนื้อหาไม่ซ้ำใคร, มีการใช้รูปภาพและวิดีโอที่เกี่ยวข้องประกอบในเนื้อหา, เนื้อหามีความครบถ้วนสมบูรณ์, เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว, เนื้อหาอัปเดตใหม่ล่าสุด หรือการเขียนโดยใช้หลักการ E-E-A-T เป็นต้น และถ้าเว็บไซต์ใดที่มีเนื้อหาไม่มีคุณภาพ ก็จะถูกลดคะแนนความน่าเชื่อถือและลดอันดับเว็บไซต์ลงได้

5. ตรวจสอบ Keyword Cannibalization

การตรวจสอบ SEO ในส่วนของ Keyword Cannibalization ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจทำให้อันดับหน้าเว็บไซต์ที่แสดงผลบน Google ไม่แม่นยำได้ โดย Keyword Cannibalization คือการใช้คีย์เวิร์ดเดียวกันซ้ำในหลาย ๆ หน้าเว็บไซต์ ผลเสียของมันก็คือการทำให้ Google สับสน ไม่รู้ว่าควรจะหยิบหน้าไหนไปจัดอันดับดี ส่งผลให้มีการแข่งขันกันภายในเว็บไซต์ และทำให้เกิดการหยิบหน้าเว็บไซต์ไปแสดงผลแบบสลับกัน แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของ SEO, อันดับ และปริมาณ Traffic ที่เข้ามาบนเว็บไซต์ด้วย

วิธีแก้ปัญหา Keyword Cannibalization

  1. เลือกหน้าหลักที่ต้องการ จากนั้นให้ทำการเปลี่ยนคีย์เวิร์ดและปรับเนื้อหาในหน้าอื่น ๆ 
  2. นำเนื้อหาของทั้งสองหน้ามารวมกันที่หน้าเดียว และทำการ 301 Redirect จากหน้ารองไปหน้าหลัก
  3. สร้าง Internal Link จากหน้าอื่น ๆ ไปยังหน้าหลักด้วย Anchor Text ที่เป็นคีย์เวิร์ด

6.  ตรวจสอบปัญหาลิงก์เสีย (Broken Link)

ลิงก์เสีย (Broken Link) คือลิงก์ที่เปิดเข้าไปแล้วไม่พบอะไรเลย เป็นหน้าเปล่า ๆ และมีข้อความเขียนว่า “ไม่พบเนื้อหา” หรือ “404 Not Found” ปัญหาลิงก์เสียสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การลบหน้าเว็บไซต์ออกไป, การแก้ไข URL และข้อผิดพลาดทางเทคนิค เป็นต้น ซึ่งลิงก์เสียจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์, ประสบการณ์ผู้ใช้งาน, อันดับเว็บไซต์ และประสิทธิภาพของ SEO โดยรวมบนเว็บไซต์ด้วย

  • วิธีการตรวจสอบลิงก์เสีย : การใช้ SEO Tool อย่าง Ahrefs, Google Search Console, Broken Links Checker หรือ Moz ในการตรวจสอบ
  • วิธีการแก้ไขปัญหาลิงก์เสีย : ทำการ 301 Redirect จากลิงก์เสียไปยังหน้าเว็บไซต์อื่น หรือลบลิงก์เสียออกไปจากเว็บไซต์แบบถาวร

7.  ตรวจสอบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX)

ประสบการณ์ผู้ใช้งานหรือ User Experience เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ Google ให้ความสำคัญไม่แพ้อย่างอื่นเลย หรือกล่าวคือคุณจะต้องปรับปรุงเว็บไซต์ให้ออกมาเอื้ออำนวยต่อการใช้งานของผู้ใช้มากที่สุด อาทิ การแสดงผลที่รวดเร็วทันใจ ไม่ต้องรอโหลดนาน ๆ , การปรับให้เว็บไซต์แสดงผลบนอุปกรณ์พกพาได้ทันที, การจัดองค์ประกอบบนหน้าเว็บไซต์ออกมาให้อ่านง่าย หรือการทำโครงสร้างเว็บไซต์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าหน้าเว็บไซต์ของคุณจะมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานได้หรือยัง? อย่างแรกคือทดลองใช้งานด้วยตัวเอง ว่ามีจุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่าใช้งานไม่สะดวกไหม, ความเร็วของการโหลดหน้าเว็บไซต์น่าพึงพอใจหรือไม่, เว็บไซต์ใช้งานได้ง่ายหรือเปล่า, เนื้อหาเหมาะสมและอ่านง่ายไหม, สีตัวอักษร รูปแบบตัวอักษรเป็นอย่างไร ฯลฯ

8. ตรวจสอบ Mobile​ Friendly​

เจ้าของเว็บไซต์ส่วนใหญ่มักจะลืมไปว่าผู้ใช้งานส่วนมาก เข้าสู่เว็บไซต์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น ถ้าเว็บไซต์ของคุณออกแบบมาเพื่อหน้าจอคอมเท่านั้น ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่เข้าผ่านมือถืออาจจะเจอกับการแสดงผลที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางเนื้อหา, ตำแหน่งของรูปภาพ หรืออื่น ๆ อีกสารพัดสิ่ง พอเจอแบบนี้ใคร ๆ ก็อยากรีบกดออกไป เพราะดูแล้วไม่น่าจะเหมาะกับการอ่านต่อสักเท่าไหร่ จึงทำให้เกิดผลเสียต่อ SEO และเว็บไซต์ได้นั่นเอง

วิธีตรวจสอบ Mobile​ Friendly​

  1. เข้าไปที่ Google Search Console > Mobile Usability และดูจากสีที่ปรากฏขึ้น หากเป็นสีเขียวแปลว่าทำงานได้ดีบนมือถือ แต่ถ้าเป็นสีแดงแปลว่ายังไม่เหมาะกับการทำงานบนมือถือ
  2. เข้าไปที่ https://search.google.com/test/mobile-friendly และใส่ URL เว็บไซต์ของคุณลงไป พร้อมกับกด Test URL จากนั้นให้ดูสีที่ปรากฏขึ้นมาเช่นเดียวกัน

9. ตรวจสอบระยะเวลาในการดาวน์โหลด

ระยะเวลาในการโหลดหน้าเว็บไซต์ขึ้นมา ส่งผลต่อ SEO มากกว่าที่คิด! ถ้าโหลดช้าเว็บไซต์อันดับตกได้เลย เพราะความเร็วเว็บไซต์ (Pagespeed) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ Google ใช้ในการจัดอันดับ SEO เนื่องจากความเร็วในการโหลดหน้าเว็บมีผลกับประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานจะได้รับโดยตรง รวมไปถึง Conversion Rate ก็แย่ลงด้วย ซึ่งระยะเวลาที่ดีที่สุดคือไม่ควรเกิน 2.594 วินาที นับตั้งแต่มีการคลิกเข้าไปที่หน้านั้น ไปจนถึงการแสดงผลของเนื้อหาทั้งหมด

ซึ่งในเดือนมีนาคม 2024 Google ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงปัจจัยหนึ่งใน Core Web Vitals จาก Largest Contentful Paint (LCP) มาเป็น Interaction to Next Paint (INP) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่การวัดความเร็วในการตอบสนองต่อการโต้ตอบของผู้ใช้ เช่น การคลิกปุ่ม การกรอกฟอร์ม หรือการเลื่อนหน้า โดยการตอบสนองที่เร็วจะส่งผลให้ Core Web Vitals โดยรวมดีขึ้น

วิธีตรวจสอบความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์

  • เข้าไปที่ https://developers.google.com/speed/pagespeed/insights 
  • ใส่ URL ของหน้าเว็บไซต์ที่ต้องการลงไป และกด Analyze
  • จากนั้นระบบก็จะแสดงผลลัพธ์ออกมาทั้งแบบ Mobile และ Desktop หากผ่านเกณฑ์จะขึ้นว่า Passed (ตัวหนังสือสีเขียว) หากไม่ผ่านเกณฑ์จะขึ้นว่า Failed (ตัวหนังสือสีแดง)

วิธีปรับปรุงเว็บไซต์ให้โหลดเร็วขึ้น

  • ถอนการติดตั้งปลั๊กอิน WordPress ที่ไม่ได้ใช้ออกไป
  • ใช้ Cache เก็บข้อมูล เพื่อให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้น เนื่องจากไม่ต้องดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ใหม่ทุกครั้ง
  • ปรับขนาดรูปภาพบนเว็บไซต์ให้เล็กที่สุด หรือไม่เกิน 200 kb
  • เปลี่ยนสกุลไฟล์ภาพบนเว็บไซต์ให้เป็น WebP (ไฟล์ที่เหมาะกับการทำ SEO ที่สุด)
  • ย่อขนาด JavaScript และ CSS หรือรวมไฟล์เข้าด้วยกัน

10. ตรวจสอบความปลอดภัยของเว็บไซต์

สำหรับขั้นตอนตรวจสอบ SEO อย่างสุดท้ายที่ไม่ควรพลาดสุด ๆ คงไม่พ้นเรื่องความปลอดภัยของเว็บไซต์หรือการติดตั้ง SSL Certificate และเปลี่ยน URL จาก HTTP เป็น HTTPS ข้อดีของการมีเว็บไซต์ที่ปลอดภัย จะช่วยให้คุณดูน่าเชื่อถือในสายตาของ Google ทำให้เว็บไซต์ถูกนำไปจัดอันดับได้ดี และยังทำให้ผู้ใช้งานเชื่อมั่นและไว้ใจเว็บไซต์ของคุณด้วย ส่วนวิธีการตรวจสอบก็ไม่ยาก สามารถดูที่ URL เว็บไซต์ของคุณได้เลย

บทสรุป

SEO คือกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างผลลัพธ์ให้แก่ธุรกิจได้อย่างมหาศาล แต่ข้อเสียของการทำ SEO คือต้องใช้ระยะเวลานานและมีความซับซ้อนมาก จากที่เราได้เห็นการตรวจสอบ SEO ในด้านต่าง ๆ ไปในบทความนี้ หลังจากที่อ่านบทความ “10 ขั้นตอนตรวจสอบ SEO เว็บไซต์ และวิธีเช็กอันดับฟรี ฉบับ 2024” จบแล้ว หวังว่าผู้อ่านทุกคนจะเช็กอันดับเว็บไซต์เป็น และสามารถตรวจสอบ SEO เว็บไซต์ได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ หากติดปัญหาเรื่องการทำ SEO หรือกำลังมองหาบริษัทรับทำ SEO ในการดูแลเว็บไซต์ของคุณ แองก้า (ANGA) ยินดีให้คำปรึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างมืออาชีพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Organic Traffic คืออะไร พร้อมวิธีเพิ่ม Traffic บนเว็บไซต์

Web Traffic คือผู้เข้าชมเว็บไซต์ ที่มีความสำคัญมาในการทำให้เว็บไซต์เติบโตและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง Traffic มาได้จากหลายช่องทาง อาทิ Paid, Direct, Social Media, Referral และ Organic Traffic แต่ Traf
49

Breadcrumb Navigation ป้ายนำทางบนเว็บไซต์ ที่ส่งผลดีต่อ SEO

เว็บไซต์ส่วนใหญ่มีหน้าเว็บและข้อมูลเยอะมาก อาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกสับสนและหลงทางได้ การมีตัวช่วยนำทางบนเว็บไซต์หรือ Breadcrumb Navigation ติดตั้งไว้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับ
44

รู้จัก DeepSeek AI เอไอสัญชาติจีนที่กำลังมาแรงในตอนนี้

ต้องบอกว่าในปี 2025 นี้ แพลตฟอร์ม AI เติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังตอบโจทย์การทำงานที่หลากหลายด้านได้อีกด้วย คุณสามารถใช้ AI ในการทำงานแทน อย่างเขียนบทความ สรุปข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ค้นหาข้อมูล เขี
48
th