Interaction to Next Paint (INP) คืออะไร? สาย SEO ห้ามพลาด!
หากคุณอยากเว็บไซต์ของคุณติดอันดับดี ๆ บน Google ไปนาน ๆ จากการทำ SEO (Search Engine Optimization) ต่อไปล่ะก็ คุณอาจจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้งานมากขึ้น ซึ่ง Interaction to Next Paint หรือ INP คือหนึ่งในสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม เพราะสิ่งนี้ จะเป็นตัวชี้วัดว่าคุณมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานอยู่หรือไม่ ถ้า “ไม่” Google ก็อาจจะลดอันดับการแสดงผลเว็บไซต์ของคุณให้แย่ลงกว่าเดิมก็เป็นได้
Google ได้ประกาศเอาไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมของปี 2023 ว่า Interaction to Next Paint (INP) เป็นตัวชี้วัดใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ตัวชี้วัดเดิมอย่าง FID (First Input Delay) ในเดือนมีนาคม ปี 2024 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์ทั้งหลาย หรือที่เราเรียกกันว่า User ได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีกลับไป โดยเฉพาะการตอบสนองเว็บไซต์อย่างรวดเร็ว หากคุณยังไม่ทราบว่า INP คืออะไร? ต้องทำอย่างไรให้โดนใจกูเกิลและผู้ใช้งานมากที่สุด มาทำความเข้าใจในเรื่องนี้กับ ANGA ได้เล
@angamastery #Google Update Algorithm 2024 นักทำ SEO ปวดหัวแน่นอนถ้าไม่รีบแก้ตามนี้! . #GoogleUpdate2024 #SocialMedia #รู้จากTikTok #TikTokความรู้ #TikTokUni #แองก้าอยากแชร์ #ANGAShare #ANGA #DigitalMarketing #OnlineMarketing #DigitalAgency #การตลาดออนไลน์ #business ♬ original sound – ANGA MASTERY
ทำไม Google ถึงหันมาใช้ INP แทน FID
เดิมที Google จะใช้ FID หรือ First Input Delay เป็นตัวชี้วัดหลัก เพื่อตรวจสอบความช้า-เร็วในการตอบสนองของเว็บไซต์วัดความแตกต่างระหว่างเวลาที่ผู้ใช้โต้ตอบกับอุปกรณ์ และวัดเวลาที่เบราว์เซอร์เริ่มประมวลผล โดยจะเริ่มจากการกระทำ 4 รูปแบบ คือ คลิก, กดแป้นพิมพ์, เลื่อนเมาส์ลง และ การ Pointerdown ที่ตามมาด้วยการ Pointerup
เมื่อมีการใช้ FID ไประยะหนึ่ง ทาง Google พบว่า FID มีข้อจำกัดบางประการและไม่ตอบสนองสิ่งที่ Google ต้องการบางเรื่อง อย่างการวัดการตอบสนองทั้งหมด ไม่ใช่แค่การตอบสนองแรก, การบันทึกระยะเวลาทั้งหมดของแต่ละเหตุการณ์ (ไม่ใช่แค่ความล่าช้า) หรือสร้างคะแนนรวมสำหรับการโต้ตอบทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ เป็นต้น
Google จึงหันมาให้ความสำคัญและเลือกใช้ Interaction to Next Paint (INP) แทน เนื่องจาก INP ตอบโจทย์มากกว่า เพราะสามารถวัดผลการตอบสนองของเว็บไซต์ทั้งหน้าได้นั่นเอง
ภาพแสดงไทม์ไลน์ของการใช้ INP
Interaction to Next Paint หรือ INP คืออะไร?
Interaction to Next Paint หรือ INP คือ เมทริกซ์ที่ใช้วัดผลการตอบสนองของเว็บไซต์ทั้งหน้า ว่าเว็บไซต์ของคุณมีการตอบสนองต่อการโต้ตอบของผู้ใช้งานเร็วแค่ไหน โดยจะเป็นการวัดระยะเวลาตั้งแต่ “ผู้ใช้งานทำการป้อนข้อมูล” ไปจนถึง “การแสดงผลโต้ตอบของเว็บไซต์” ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะต้องไม่เกิน 200 ms (มิลลิวินาที) จึงจะเป็นการดีที่สุด และไม่ควรเกิน 500 ms
- Interaction to Next Paint ต่ำกว่า 200 ms = หน้าเว็บมีการตอบสนองที่ดี ไม่จำเป็นต้องปรับปรุง
- Interaction to Next Paint สูงกว่า 200 ms แต่ไม่เกิน 500 ms = หน้าเว็บควรได้รับการปรับปรุง
- Interaction to Next Paint สูงกว่า 500 ms = หน้าเว็บของคุณตอบสนองไม่ดี ควรปรับปรุงโดยด่วน
Interaction to Next Paint ถูกวัดจากอะไร?
Interaction to Next Paint จะครอบคลุมตั้งแต่การป้อนข้อมูลด้วยเมาส์ การกดแป้นพิมพ์ การแตะหน้าจอสัมผัส ไปจนถึงการที่เบราว์เซอร์แสดงเฟรมถัดไป หรือกล่าวคือเริ่มตั้งแต่ผู้ใช้งานคลิกหรือกดปุ่มต่าง ๆ บนหน้าเว็บไซต์ จนถึงตอนที่เว็บไซต์เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น อาทิ สีของปุ่มเปลี่ยนไป, ข้อความบนปุ่มเปลี่ยนไป, การแสดงอนิเมชั่น, การแสดงรูปภาพ หรือการเปลี่ยนหน้าไป เป็นต้น
ขอบคุณภาพจาก : DebugBear
โดย INP จะวัดระยะการตอบสนองด้วย 3 ปัจจัยนี้
- Input Delay : ระยะเวลาในการป้อนข้อมูล (รอ Background Tasks ทำงาน)
- Processing Time : ระยะเวลาในการแสดง JavaScript
- Presentation Delay : ความล่าช้าในการแสดงผลหรือการโต้ตอบ
ตัวอย่างการตอบสนองที่ดีและไม่ดีของหน้าเว็บ
เป้าหมายของ INP คือ การทำให้แน่ใจว่าระยะเวลาการตอบสนองของเฟรมถัดไปนั้น มีระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และนี่คือตัวอย่างการตอบสนองที่ดีและไม่ดีของหน้าเว็บไซต์ ที่ส่งผลต่อค่าการวัดผลของ INP โดยทางซ้ายมือจะเป็นการตอบสนองที่ไม่ดี (ช้า) ส่วนทางขวามือจะเป็นการตอบสนองที่ดี (เร็ว) นั่นเอง
ทำความรู้จัก Core Web Vitals ปัจจัยที่ใหญ่กว่า INP
Core Web Vitals (CWTs) คือหนึ่งในเครื่องมือที่ Google ให้ความสำคัญในการวัดคุณภาพของเว็บไซต์ ที่เกี่ยวข้องกันกับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ผ่านการใช้ตัวชี้วัด (Metrics) หลาย ๆ ตัว คือ LCP, FID, CLS, FCP, TTFB และ INP ที่เราได้พูดถึงกันในบทความนี้ ซึ่ง Core Web Vitals จะมี LCP FID และ CLS เป็นองค์ประกอบหลัก
และเนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อัตราผู้ใช้งานเว็บไซต์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์มือถือ สูงขึ้นกว่าการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจน ทำให้ Google หันมาให้ความสำคัญในส่วนนี้มากขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ Core Web Vitals จึงจะเน้นไปที่ประสบการณ์การใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Friendly) เป็นหลัก
ปัจจัยที่นำมาวัดผล User Experience
- ความเสถียรของเว็บไซต์
- การแสดงผลที่เหมาะกับการใช้งานบนมือถือ
- ระบบรักษาความปลอดภัย (HTTPS) และความปลอดภัยในการใช้งาน
- ความเร็วในการโหลดคอนเทนต์และสิ่งต่าง ๆ บนหน้าเว็บ
- ความเร็วในการตอบสนองของเว็บไซต์
แนะนำ 6 ตัวชี้วัดของ Core Web Vitals
1. Largest Contentful Paint (LCP)
ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ (Loading Performance) ซึ่งจะเป็นการวัดจากคอนเทนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหน้านั้น ๆ ว่าใช้ระยะเวลาในการดาวน์โหลดนานเท่าไหร่ อาทิ วิดีโอ รูปภาพ แบนเนอร์ หรือ Pop-up (นับจากองค์ประกอบแต่ละส่วน ไม่ใช่นับทั้งหน้าเว็บ) โดยจะมีค่ามาตรฐานอยู่ที่ไม่เกิน 2.5 วินาที
ภาพแสดงไทม์ไลน์ของการใช้ INP
2. First Input Delay (FID)
ความเร็วในการตอบสนองของเว็บไซต์ หรือการวัดความหน่วง (Interactivity) ว่าหลังจากที่คลิกแล้ว หน้าเว็บไซต์นั้นมีการตอบสนองเร็วแค่ไหน ตอบสนองทันทีไหม มีการกระตุก หรือติดขัดตรงไหนหรือไม่ สำหรับค่า FID ที่ดี จะต้องใช้ระยะเวลาในการโหลดไม่เกิน 100 ms
ขอบคุณภาพจาก : WebPageTool
3. Cumulative Layout Shift (CLS)
คะแนนที่ใช้ในการประเมินความเสถียรของหน้าเว็บไซต์ ซึ่งจะใช้วัดองค์ประกอบต่าง ๆ บนเว็บไซต์ที่มีการเคลื่อนไหวหรือเกิดการเปลี่ยนไป ในระหว่างการโหลดหน้าเว็บ อาทิ การวางปุ่ม CTA, ขนาดของตัวอักษร, การจัดวางหน้าเว็บ, รูปภาพที่ใช้ ฯลฯ หากมีการจัดวางที่ไม่ระเบียบหรือไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน อาจจะส่งให้คะแนนไม่ดีได้ โดยค่าของ CLS ที่แนะนำคือไม่ควรเกิน 0.1
4. First Contentful Paint (FCP)
การวัดผลของหน้าเว็บไซต์ นับตั้งแต่เริ่มโหลดหน้าเว็บไปจนถึงการแสดงเนื้อหาแรก (แสดงแค่บางส่วน ไม่ใช่แสดงครบทั้งหมด) ซึ่งอาจจะเป็นข้อความ เค้าโครงเว็บไซต์ หรือรูปภาพก็ได้ สำหรับเว็บไซต์ที่ดี ควรมีค่า FCP ไม่เกิน 1,000 ms
5. Time to First Byte (TTFB)
ระยะเวลาแรกที่เบราว์เซอร์ได้รับข้อมูลไบต์แรกจาก Server (ระยะเวลาหน้าสีขาว ที่รอเว็บไซต์โหลดขึ้นมาแสดงผลให้เห็น) ยิ่งมีค่านี้สูง ยิ่งแปลว่าโหลดนาน ซึ่งค่านี้ไม่ควรมีระยะเวลานานเกิน 200 ms
6. Interaction to Next Paint (INP)
INP คือ ตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินการตอบสนองของหน้าเว็บต่อการกระทำของผู้ใช้งาน หรือหลังจากที่ผู้ใช้มีการคลิก การพิมพ์ หรือแตะใด ๆ แล้ว เว็บไซต์จะใช้เวลาในการตอบสนองกลับนานเท่าไหร่ ซึ่งระยะเวลาไม่ควรนานเกิน 200 ms
ทำอย่างไรให้เว็บไซต์เรามีมาตรฐานและถูกใจ Google
ทุกอย่างที่อยู่บนเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นโค้ดหลังบ้าน หรือคอนเทนต์หน้าบ้านก็ตาม ล้วนส่งผลต่อความเร็วในการโหลดหน้าเว็บและความเสถียรของเว็บทั้งสิ้น เช่น การเลือกใช้รูปแบบตัวอักษร, ขนาดตัวอักษร, ขนาดของไฟล์รูปภาพ, ขนาดของไฟล์วิดีโอ, ตำแหน่งในการวางปุ่ม Call-to-Action, ระยะห่างขององค์ประกอบบนหน้าเว็บไซต์, Pop-up ฯลฯ
ถ้าทุกอย่างบนหน้าเว็บไซต์มีขนาดใหญ่จนเกินไป มีมากเกินจำเป็น หรือถูกจัดวางอย่างซับซ้อน จะทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ไม่ดี รู้สึกว่าเว็บไซต์นี้ใช้งานยากและไม่ให้ประโยชน์อะไร จากนั้นก็กดปิดออกไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้อันดับของเว็บไซต์ในแง่ของการทำ SEO นั่นตกลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือการออกแบบเว็บไซต์ โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก เว็บไซต์ต้องโหลดเร็ว แสดงผลไว, ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน, อ่านคอนเทนต์ได้ง่าย และมีการจัดวางข้อมูลอย่างเป็นระเบียบ รวมไปถึงมีความสวยงามด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างสิ่งที่คุณควรปรับปรุงบนเว็บไซต์ คือ
- ย่อขนาดของไฟล์ภาพให้ไม่เกิน 200KB
- แปลงสกุลของไฟล์ภาพให้เป็น WebP
- ใช้ Hosting ที่มีคุณภาพและมีความเสถียร
- แทนที่วิดีโอ โดยการใช้ลิงก์จาก Youtube แทน
- ลดขนาดของสคริปต์บนเว็บไซต์ (HTML, CSS, JavaScript)
- วางตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ ดูสบายตา น่าติดตามอ่าน
สรุปว่า INP คืออะไร?
สรุปว่า Interaction to Next Paint หรือ INP คือตัวชี้วัดการตอบสนองของเว็บไซต์ทั้งหน้า เมื่อเกิดการกระทำใด ๆ ของผู้ใช้งานขึ้น ไปจนถึงการตอบสนองของเว็บไซต์ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดย INP นี้ จะเข้ามาเป็นตัวชี้วัดหลักที่ Google นำมาใช้วัดคุณภาพและมาตรฐานของเว็บไซต์ ในแง่ของประสบการณ์ผู้ใช้งานในเดือนมีนาคมของปี 2024 นั่นเอง ถ้าถามว่าต้องทิ้ง FID ไปเลยไหม? คำตอบคือ “ไม่” เพราะ FID ก็ถือว่าเป็นรากฐานที่ดีของการปรับปรุง INP ด้วยเช่นกัน