External Link คืออะไร? ต่างจาก Internal Link อย่างไร
ลิงก์ (Link) ที่ปรากฏขึ้นบนบทความตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ Internal Link และ External Link ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทาง Google ให้ความสำคัญต่อการนำไปจัดอันดับเว็บไซต์บน SERP (Search Engine Results Page) เพราะลิงก์เชื่อมโยงเหล่านี้จะทำให้เว็บไซต์ของเราดูน่าเชื่อถือและมีคุณภาพในสายตาของ Google มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเหล่าผู้ใช้งาน (User) ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
โดยในบทความก่อนหน้านี้ ANGA ก็ได้อธิบายกันไปแล้วว่า Internal Link คืออะไร ดังนั้นในบทความนี้เรามาต่อกันที่เรื่อง External Link คืออะไรกันดีกว่า แต่เราไม่ได้เอามาฝากแค่ข้อมูลความรู้เท่านั้น เพราะเรามีเทคนิคดี ๆ จากประสบการณ์การทำงานด้าน SEO มาฝากกันแบบจัดเต็มด้วย!
External Link คืออะไร
External Link คือการสร้างลิงก์จากเว็บไซต์หนึ่ง ส่งไปยังเว็บไซต์อื่นที่มีโดเมนแตกต่างกัน และมักจะเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันด้วย เช่น เว็บไซต์ของแองก้าเป็นเว็บไซต์ของธุรกิจดิจิทัลเอเจนซี่ ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน SEO โดยเฉพาะและรับทำ SEO ครอบคลุมทุกด้าน ได้มีการเขียนบทความ SEO เรื่อง “เร่งยอดขายให้ “พุ่ง” ด้วยกลยุทธ์ลับจากการทำ SEO” ขึ้นมา โดยมีเว็บไซต์ Search Engine Land เป็นแหล่งที่มาของข้อมูล จึงได้มีการทำ External Link ไปยังเนื้อหาที่อยู่บนเว็บไซต์ Search Engine Land เพื่อเป็นการขอบคุณและเปิดทางให้ผู้ใช้สามารถตามไปอ่านข้อมูลต่อได้ เป็นต้น
External Link มีกี่ประเภท
External Link แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทนี้ คือ Dofollow Link และ Nofollow Link สองสิ่งนี้มีความแตกต่างกันไม่น้อย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. Dofollow Link
Dofollow Link คือ External Link ที่สามารถส่งต่อคะแนนหรือน้ำหนักของความน่าเชื่อถือ (Authority) จากเว็บไซต์ต้นทางไปยังเว็บไซต์ปลายทางได้ หมายความว่าถ้าเว็บไซต์ต้นทางมีความน่าเชื่อถือสูงมาก ๆ มี Traffic จำนวนมาก และเว็บไซต์ก็ติดหน้าแรกของ Google เต็มไปหมด “น้ำหนัก” เหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปยังเว็บไซต์ปลายทาง ซึ่งมีผลต่อความน่าเชื่อถือและอันดับเว็บไซต์เช่นกัน
ตัวอย่าง
เว็บไซต์ A เขียนบทความเรื่อง “แมวเป็นหวัดทำยังไงดี?” และมีการทำ External Link ไปยังเว็บไซต์ของโรงพยาบาลสัตว์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาแมวที่เป็นโรคหวัด ภายใต้หัวข้อ “แนะนำวิธีการรักษาหลังจากที่แมวเป็นหวัด” โดยส่วนมาก External Link ลักษณะนี้จะเป็นแบบ Dofollow Link ที่มีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่ถ้าไม่ต้องการให้เว็บไซต์ปลายทางได้รับน้ำหนักตรงนี้ไปก็สามารถเปลี่ยนเป็น Nofollow Link ได้
2. Nofollow Link
Nofollow Link คือ External Link ที่ไม่ได้ส่งต่อน้ำหนักของความน่าเชื่อถือไปยังเว็บไซต์ปลายทาง อาจจะต้องการเอ่ยถึงเพียงอย่างเดียว ถ้าถามว่าเว็บไซต์ปลายทางจะได้ประโยชน์ทาง SEO บ้างไหม? ในเมื่อเว็บไซต์ต้นทางไม่ส่งน้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือมาเลย คำตอบคือได้ประโยชน์ด้าน SEO และมีส่วนช่วยเรื่องอันดับเว็บไซต์ ถึงแม้จะน้อยมาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย เพราะการที่ชื่อโดเมนของเราถูกกล่าวถึงบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือ Social Media เอง ก็เป็นสิ่งที่ Google นำไปพิจารณาเรื่องการจัดอันดับเว็บไซต์เช่นกัน
ตัวอย่าง
ตัวอย่างของ Nofollow Link ที่เห็นได้บ่อย ๆ คือลิงก์ที่มีต้นทางมาจากแพลตฟอร์ม Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter (X), Instagram, Lemon8, YouTube หรือพวกเว็บบอร์ดต่าง ๆ อย่าง Pantip และ Dek-D โดยส่วนใหญ่แล้วเว็บเหล่านี้จะตั้งค่าพื้นฐานที่ระบุให้ External Link เป็นแบบ Nofollow Link
External Link มักถูกใช้ในกรณีใดบ้าง
- อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลที่เป็นเว็บไซต์อื่น อาจจะเป็นบทความ งานวิชาการ เอกสาร ไฟล์ PDF หรืออื่น ๆ ก็ได้
- แนะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากข้อมูลเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่ได้มีเนื้อหาตรงกับเนื้อหาในหน้าหลักเท่าไหร่นัก
- โปรโมตหรือเพิ่ม Traffic ให้กับเว็บไซต์อื่น (Backlink) เช่น บทความ “จัดอันดับบริษัทรับทำ SEO 2024” ที่อยู่บนเว็บไซต์สื่อต่าง ๆ ก็จะมีการแนบข้อมูล ช่องทางติดต่อ และเว็บไซต์ของแต่ละบริษัทลงไปในเนื้อหาด้วย เพื่อส่งเสริมให้เว็บไซต์ปลายทางที่ทำ External Link ส่งออกไปได้รับ Traffic และคะแนน Page Authority มากขึ้น
External Link สำคัญกับการทำ SEO อย่างไร
- มอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งาน ทำให้พวกเขาสามารถกดไปดูข้อมูลเพิ่มเติมจาก External Link ที่เราวางไว้ได้
- เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเนื้อหาและเว็บไซต์ จากการทำ External Link ไปยังบทความวิชาการ งานวิจัย หรือแหล่งข้อมูลทางการ เพื่ออ้างอิงเนื้อหาในบทความ
- ช่วยเพิ่มอันดับเว็บไซต์บน SERP (Search Engine Results Page) ทำให้ Website Traffic สูงขึ้น และสร้างโอกาสในการขายหรือเพิ่ม Conversion Rate ได้
ทำ External Link อย่างไร ให้เป็นผลดีต่อ SEO
- ทำ External Link ออกไปยังหน้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องและคล้ายคลึงกันกับหน้าเว็บไซต์ต้นทาง ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจเดียวกันด้วยก็จะยิ่งได้ผลดีมากขึ้นไปอีก (แนะนำให้ส่งลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง ๆ เป็นหลัก)
- ระบุ Anchor Text ที่เป็นคีย์เวิร์ดหรือประโยคที่เกี่ยวข้องกับหน้าเว็บไซต์ปลายทาง ห้ามนำคีย์เวิร์ดของหน้าเว็บไซต์ต้นทางที่ทำ External Link ออกไป มาตั้งเป็น Anchor Text เด็ดขาด (ไม่ควรทำ Naked Link หรือลิงก์เปลือย ๆ )
- ออกแบบ External Link ให้น่าคลิก เช่น การทำตัวหนา การใส่สีสันที่โดดเด่น การขีดเส้นใต้ หรือการขยายตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น เป็นต้น
- ตั้งค่า External Link ให้เป็น Open Link in New Tab หรือ New Window เพื่อให้ผู้ใช้งานยังอยู่บนเว็บไซต์ของเราต่อไป ไม่ใช่กดออกไปแล้ว ออกไปเลย
- ตั้งค่า External Link เป็น Dofollow Link ไม่ต้องหวงน้ำหนักของความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์เราที่จะถูกส่งต่อไปยังเว็บไซต์ปลายทาง
- ถ้าคุณต้องการดันอันดับเว็บไซต์ของตัวเอง ให้มองหาเว็บไซต์ต้นทางที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ มี Traffic เข้าเว็บไซต์จำนวนมาก ติดอันดับบนหน้าแรกหลากหลายคีย์เวิร์ด และตั้งค่าลิงก์เป็น Dofollow Link (External Link ที่มาจากเว็บไซต์อื่นก็คือ Backlink)
- ก่อนที่จะถึง External Link เขียนประโยคเกริ่นนำสักนิด เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้ว่าลิงก์นี้จะพาพวกเขาไปที่ใด
ความแตกต่างของ External Link กับ Internal Link
External Link คือการส่งลิงก์ออกไปนอกเว็บไซต์ ส่วน Internal Link คือการส่งลิงก์ไปยังหน้าเว็บไซต์อื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้โดเมนเดียวกัน หรือจะเรียกว่าเป็นการทำลิงก์เชื่อมโยงระหว่างหน้าหนึ่งไปยังอีกหน้าหนึ่งก็ได้ เพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้งานอยู่บนเว็บไซต์นานขึ้น ลดปัญหาเรื่อง Bounce Rate ช่วยเพิ่ม Conversion Rate และมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออันดับ SEO ด้วย เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถกด Internal Link ไปยังหน้าสินค้าหรือหน้าอื่น ๆ ที่สนใจต่อได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปค้นหาข้อมูลบน Google ใหม่
บทสรุปของเรื่องนี้
External Link คือการส่งต่อพลังความน่าเชื่อถือจากเว็บไซต์ต้นทางไปยังเว็บไซต์ปลายทาง และช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งาน อย่างการวางลิงก์แหล่งที่มาของข้อมูลไว้ในบทความ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถคลิกและไปอ่านต่อได้ ซึ่ง External Link เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ Google นำมาใช้พิจารณาจัดอันดับเว็บไซต์นั่นเอง แต่ถ้าเป็นการส่งลิงก์จากเว็บไซต์อื่นมายังเว็บไซต์ของเราจะถูกเรียกว่า Backlink ในกรณีนี้แบบนี้ เว็บไซต์ของเราก็จะได้รับอิทธิพลจากชื่อเสียงของเว็บไซต์ต้นทางเช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะหาเว็บไซต์รับทำ Backlink จะต้องมองหาเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือสูง ๆ (Domain Authority) และมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับเว็บไซต์ของคุณจะเป็นการดีที่สุด