ทำความรู้จัก Cloaking คืออะไร เทคนิค SEO สายดำ เสี่ยงโดนแบน
เมื่อคุณกำลังมองหาสินค้าหรือข้อมูลบน Google อยู่ เคยไหมที่ชื่อเว็บไซต์เป็นเรื่องที่คุณตามหา แต่พอคลิกเข้าไปแล้วกลับเป็นเว็บพนันหรือเว็บแปลก ๆ ที่ดูน่ากลัวพิลึกพิลั่น สิ่งที่คุณเห็นนี้เรียกว่า “Cloaking” ซึ่ง Cloaking คือเทคนิคการทำ SEO รูปแบบหนึ่ง ที่เอาไว้หลอก Search Engine อย่าง Google ว่าหน้าเว็บนี้ให้ข้อมูลที่ดีและเป็นประโยชน์นะ เอาเว็บไซต์ฉันไปจัดอันดับสิ แต่ในความเป็นจริงหน้านั้นกลับไม่มีคุณภาพเลย อีกทั้งยังมักจะเป็นเว็บไซต์ของธุรกิจที่ผิดกฎหมายอีกด้วย
แองก้าจะพาคุณไปล้วงลึกทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่าการทำ Cloaking คืออะไร, Cloaking ดียังไง เห็นผลจริงไหม ทำไมยังมีคนทำอยู่, ผลกระทบที่ตามมาจากการทำ Cloaking คืออะไร และถ้าจะหาบริษัทรับทำ SEO มาดูแลเว็บไซต์ ควรเลือกยังไงไม่ให้เจอเอเจนซี่สายดำ !?
Cloaking คืออะไร
Cloaking คือการทำให้ Search Engine เข้าใจว่าหน้าเว็บไซต์นี้มีเนื้อหาเป็นแบบหนึ่ง แต่แสดงผลบนหน้าจอของผู้ใช้งานอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะแตกต่างกันตาม User-Agent ของผู้ใช้งาน เพื่อหลอกให้ Search Engine เข้าใจว่าเนื้อหาในเว็บไซต์นี้ เหมาะแก่การจัดอันดับ และคาดหวังให้หน้าดังกล่าวติดอันดับบนหน้าแรกของ Search Engine แน่นอนว่าการทำ Cloaking คือการทำ SEO สายดำที่ Google และแองก้าไม่แนะนำเสียเลย เพราะมีโอกาสสูงที่เว็บไซต์จะถูกแบนและโดนถอดออกจากฐานข้อมูลของ Google ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วคีย์เวิร์ดที่คนนิยมนำไปทำ Cloaking มักจะเป็นคีย์เวิร์ดที่มีปริมาณการค้นหาสูงมาก ๆ เพราะมันสามารถดึง Traffic ได้มากนั่นเอง
ตัวอย่างการทำ Cloaking
- คีย์เวิร์ด (Keyword) : “เว็บย่อลิงค์”
- Title ที่แสดงบนหน้า SERP : “ย่อลิงค์ ย่อurl ให้สั้นโดยที่เรากำหนดชื่อลิงค์ได้เอง ด้วยเว็บ bitly com” และ “7 ตัวย่อ URL ที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจและโซเชียลมีเดีย 2024”
- หน้าเว็บไซต์ที่แสดงเมื่อกดเข้าไปชม : เว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการพนันออนไลน์
ประโยชน์ของการทำ Cloaking คืออะไร
ประโยชน์ของการทำ Cloaking คืออะไร ทำไมนักทำ SEO บางคน ถึงเลือกใช้วิธีสายดำอย่าง Cloaking แทนการทำ SEO สายขาวล่ะ? มาดูกัน
- เลี่ยงไม่ให้เว็บไซต์โดนลงโทษและโดนแบน เพราะเว็บไซต์ทำผิดนโยบายของ Google
- เพิ่มอันดับเว็บไซต์บนหน้าแสดงผลการค้นหา เพื่อดึง Traffic ด้วยคีย์เวิร์ดที่มีปริมาณการค้นหาเยอะ
- เห็นผลรวดเร็วทันใจ เว็บไซต์ติดอันดับไว เพิ่ม Organic Traffic ได้มหาศาล
ทำไมคุณถึงไม่ควรทำ Cloaking บนเว็บไซต์
ตามที่ได้กล่าวไปว่า Cloaking คือการทำ SEO สายดำ อะไร ๆ ที่ขึ้นชื่อว่า “สายดำ” หรือ “สายเทา” เราไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว อย่างการทำ SEO สายดำคือการทำ SEO ด้วยเทคนิคและวิธีที่ผิด ๆ เพื่อให้ติดอันดับอย่างรวดเร็ว โดยการใช้ช่องโหว่จากอัลกอริทึมของ Search Engine มากระทำสิ่งที่ผิดกฎของ Google นั่นเอง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว ตรงตามที่คาดหวัง แต่มันก็แค่ทำให้คุณภูมิใจที่ได้ครองอันดับดี ๆ บนหน้าแรกไม่นาน หลังจากนั้นเว็บไซต์ก็จะถูกลดอันดับและถูกแบนออกไปได้ นอกจากเทคนิคในการทำ SEO สายดำจะมีการทำ Cloaking แล้ว ยังมีเทคนิคอื่น ๆ ด้วย เช่น
- Keyword Stuffing : การยัดคีย์เวิร์ดคำเดียวซ้ำ ๆ ลงไปในเว็บไซต์หน้าเดียว
- Doorway Pages : การสร้างหน้าเว็บไซต์จำนวนมากขึ้นมา แค่เนื้อหาภายในจะมีแค่คีย์เวิร์ดล้วน ๆ ไม่มีเนื้อหาหรือคำอธิบายอื่น ๆ เลย
- Duplicate Content : การสร้างหน้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาซ้ำกับหน้าอื่น ๆ หรือการใช้เนื้อหาซ้ำซ้อน
- Spam Backlink : การสร้าง Backlink ที่ไร้คุณภาพจำนวนมาก เพื่อให้ Search Engine เข้าใจว่ามีเว็บไซต์อื่นส่งคะแนนโหวตมาให้เยอะ ๆ เพื่อที่จะได้นำไปจัดอันดับให้สูงขึ้น
โทษของการทำ Cloaking หากโดนตรวจจับได้
หากคุณทำ Cloaking แล้วโดน Google ตรวจจับได้ โดเมนเว็บไซต์ของคุณก็จะโดนแบนแบบถาวร เว็บไซต์ยังคงอยู่แต่ไม่สามารถแสดงผลบน Google ได้อีก (ไม่มีทางติดอันดับ ไม่มีทางที่จะได้ Traffic จาก Google) หรือแม้แต่ในกรณีที่เว็บไซต์โดนแฮ็กให้เปลี่ยนจากเว็บไซต์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป เป็นเว็บไซต์ผิดกฎหมายหรืออื่น ๆ ที่ผิดนโยบายของ Google เว็บไซต์และเครื่องหมายการค้าของธุรกิจดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะถูก Google แบนได้เช่นกัน
ถ้าเผลอไปกดเข้าเว็บไซต์ Cloaking จะเป็นอะไรไหม?
ถ้าคุณเผลอเข้าไปเจอกับเว็บไซต์ที่ทำ Cloaking ล่ะก็ ขอแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1. เว็บไซต์ Cloaking ที่อันตราย
เว็บไซต์ Cloaking ที่อันตรายจะมีการ Redirect ไปยังหน้าดาวน์โหลดไฟล์ต่าง ๆ แบบอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้งานอาจจะเห็นว่ามีการดาวน์โหลดเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ซึ่งถือว่าอันตรายมาก ๆ ถ้าเจอเผลอเข้าไปบนเว็บไซต์พวกนี้ล่ะก็ต้องรีบเช็กโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่โดยด่วน เพื่อมองหาแอปพลิเคชันหรือไฟล์ที่เราไม่ได้ดาวน์โหลดมาด้วยตัวเอง
2. เว็บไซต์ Cloaking ที่ไม่อันตราย
เว็บไซต์ Cloaking ที่ไม่อันตรายคือเว็บที่กดเข้าไปแล้วเป็นหน้าที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราค้นหา อาจจะขึ้นฟอร์มให้กรอกข้อมูล มีปุ่มต่าง ๆ ให้คลิก หรือมีวิดีโอให้ดู แต่ไม่ได้มีการดาวน์โหลดไฟล์แบบอัตโนมัติให้ และเราก็ไม่ได้กดคลิกอะไรนอกจากกดปิดเว็บไซต์ไป อันนี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ เพราะผู้ทำ Cloaking แบบนี้ มักจะหวังให้มีคนมองเห็นเยอะ ๆ และเผลอตัวไปสมัครหรือดำเนินการตามที่เขาต้องการ อย่างเช่นการเล่นพนัน เป็นต้น
เลือกเอเจนซี่ทำ SEO อย่างไร ไม่ให้เจอสายดำ
ถ้าคุณคุ้นเคยกับการทำ SEO มาบ้าง หรืออ่านเนื้อหามาจนถึงตรงนี้แล้ว คุณคงจะพอแยกออกว่าหน้าเว็บไซต์ไหนบ้างบน Google ที่ใช้เทคนิค Cloaking ในการหลอกลวง Search Engine วิธีดูง่าย ๆ ก็คือการดูจาก URL เว็บไซต์, โลโก้ และ Meta Description เพราะ URL และโลโก้ไม่สามารถเปลี่ยนได้ ส่วน Meta Description ก็มักจะถูกลืม เนื่องจากคนทำ Cloaking มุ่งเน้นไปที่การตกแต่ง Title ที่โดดเด่นสะดุดตามากกว่า
แต่การเลือกดูเอเจนซี่ทำ SEO สายดำมันไม่ได้สังเกตง่ายขนาดนั้น ด้วยเหตุนี้เรามาจดเช็กลิสต์กันอีกสักนิดว่าควรเลือกเอเจนซี่ที่มีลักษณะแบบไหน จึงจะเจอเอเจนซี่สายขาวที่มีคุณภาพจริง ทำให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับในระยะยาว และไม่เสี่ยงทำให้เว็บไซต์โดนปิดกั้น เนื่องจากเอเจนซี่รับทำ SEO สายดำบางแห่ง ก็หลอกลูกค้าที่ไม่ได้รู้เรื่อง SEO ว่าเป็นเทคนิคสายขาว ทำให้พอหมดสัญญาเลิกจ้าง Website Traffic และอันดับเว็บไซต์ตกลงทันทีได้
- มี Case Study หรือผลงานการทำ SEO ให้กับลูกค้าให้ชม
- ให้คำแนะนำและอธิบายกลยุทธ์การทำ SEO ได้อย่างชัดเจน
- มีขั้นตอนการทำงานที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบและติดตามผลได้
- สามารถตอบคำถามที่คุณสงสัยได้อย่างครบถ้วน
- มีประสบการณ์ในการทำ SEO เยอะ และเคยได้รับรางวัลด้าน SEO
- เอเจนซี่ที่มีค่าบริการปานกลางถึงสูง ไม่ถูกจนเกินไป
- มีรีวิวจากผู้ใช้บริการด้าน SEO ให้ชม แนะนำให้ดูรีวิวบน Google Maps เป็นหลัก
- ทั้งเนื้อหาในบทความและเนื้อหาใน Backlink ล้วนมีคุณภาพ ไม่ใช้ AI เขียน ไม่คัดลอกเนื้อหาจากที่อื่นมาใช้ หรือไม่มีการสแปมคีย์เวิร์ด
- มีการใส่ที่อยู่และช่องทางการติดต่ออย่างละเอียด เพื่อยืนยันตัวตนและแสดงความน่าเชื่อถือ
บทสรุป
ทุกโปรแกรมบนโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ 100% และอัลกอริทึมของ Google เองก็สามารถมีจุดบกพร่องและช่องโหว่ได้เช่นกัน ช่องโหว่เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นเทคนิคการทำ SEO สายดำขึ้นมา ดังเช่นการทำ Cloaking ที่เราได้เอามาอธิบายกันผ่านบทความนี้ การทำ Cloaking คือวิธีที่สามารถช่วยกู้อันดับเว็บไซต์ได้จริง แต่เป็นกลโกงและวิธีการที่แองก้าไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เพราะผลลัพธ์ที่จะได้นั้นไม่คุ้มที่จะเสียไปเอาซะเลย คุณไม่ควรเอาชื่อเสียงเว็บไซต์ที่สั่งสมมาไปเสี่ยงทำอะไรผิด ๆ จนตกเป็นเป้าหมายของ Google ในทางที่ไม่ดี เพราะอย่างที่เราได้กล่าวไปว่าเว็บไซต์ของคุณอาจจะถูกแบนหลังจากทำ Cloaking ได้ถ้าคุณอยากเพิ่มอันดับเว็บไซต์ให้ติดหน้าแรก ขอแนะนำให้เน้นไปที่การสร้าง Quality Content, ทำ Backlink จากเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ, ปรับปรุงประสิทธิภาพของเว็บไซต์ให้ใช้งานสะดวกที่สุด และแก้ปัญหาเชิงเทคนิคให้ครบจะดีและคุ้มค่ากว่ามาก