Core Web Vitals คืออะไร? ปัจจัยสำคัญในการดันอันดับ SEO
ทุกวันนี้การทำ SEO ไม่ได้เน้นไปที่การสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพสูงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้งานควบคู่กันไปด้วย ยิ่งเว็บไซต์ของคุณมีการปรับแต่งให้ง่ายต่อการใช้งานของ Google มากเท่าไหร่ เว็บไซต์และธุรกิจของคุณก็จะมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งานเว็บไซต์ ก็จะทำให้พวกเขาอยู่บนเว็บไซต์นานขึ้น ส่งผลดีต่อเว็บไซต์ ตามมาด้วยอันดับเว็บไซต์ที่สูงขึ้น มายอด Traffic เพิ่มขึ้น และแน่นอนว่า Conversion Rate ก็จะดีขึ้นด้วย ซึ่ง Core Web Vitals นี่แหละ จะเป็นตัวชี้วัดและแจกแจงให้คุณทราบว่าเว็บไซต์ของคุณพร้อมสำหรับการต้อนรับผู้ใช้งานจากทั่วทุกทิศทางแล้วหรือยัง
วันนี้ ANGA จะมาอธิบายให้คุณเข้าใจว่า Core Web Vitals คืออะไร, Core Web Vitals สำคัญอย่างไรต่อการทำ SEO, Core Web Vitals ประกอบไปด้วยตัวชี้วัดด้านใดบ้าง และวิธีตรวจสอบ Core Web Vitals ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ผ่านเครื่องมือฟรีอย่าง PageSpeed Insights
Core Web Vitals คืออะไร
Core Web Vitals คือตัวชี้วัดที่ Google ใช้ในการตรวจสอบมาตรฐานของเว็บไซต์ โดนที่มุ่งเน้นไปที่ปัจจัยด้านประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience หรือ UX) เป็นหลัก ซึ่งเราจะบอกว่า Core Web Vitals คือการให้คะแนน UX ของเว็บไซต์ก็ว่าได้ แล้วสิ่งที่ Google ใช้ประเมินประสบการณ์ผู้ใช้งานล่ะ มีอะไรบ้าง? หลัก ๆ ก็จะเป็นเรื่องของความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ ความเร็วในการแสดงผลของข้อมูล ระยะเวลาที่เว็บไซต์ตอบสนองต่อการกระทำของผู้ใช้งาน และความเสถียรของเว็บไซต์ระหว่างการใช้งาน เป็นต้น
ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจ, นักการตลาดออนไลน์, SEO Specialist, Web Developer หรือแม้แต่ SEO Content Writer ถ้าอยากรู้ว่าเว็บไซต์ของคุณมีโอกาสที่จะติดอันดับ (Ranking) บน Google มากแค่ไหน การตรวจสอบ Core Web Vitals ก็สามารถบ่งบอกและทำให้คุณคาดการณ์ผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
Core Web Vitals สำคัญอย่างไร?
เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะมีการเข้าไปใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เวลาที่เราใช้งานเว็บไซต์ที่โหลดอย่างรวดเร็ว มีการแสดงผลข้อมูลทันทีที่คลิกเข้าไป ใช้งานง่ายไม่มีฟีเจอร์หรือฟังก์ชันที่ซับซ้อน และทุกอย่างโหลดไวพร้อมเสิร์ฟให้คุณอ่านสุด ๆ คุณคงจะรู้สึกประทับใจและเพลิดเพลินไปกับการใช้เวลาบนเว็บไซต์นี้นาน ๆ ถ้าในอนาคตค้นหาอะไรบน Google Search แล้วพบเว็บไซต์นี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในตัวเลือก คุณก็จะกดเข้าไปในเว็บไซต์นี้ทันที เพราะรู้อยู่แล้วว่ามันตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้
ในทางกลับกันถ้าคุณเปิดเข้าไปเจอเว็บไซต์ที่อืด ยืดยาด โหลดช้า แสดงผลข้อมูลไม่ครบ แถมมีแต่ Pop-Up หรือฟีเจอร์อะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด กว่าจะหาข้อมูลที่ต้องการเจอก็ต้องใช้เวลานานเป็นนาที กรณีแบบนี้คุณอาจจะรู้สึกไม่ประทับใจกับเว็บไซต์ดังกล่าวได้ และคิดว่าคงจะไม่อยากกลับมาใช้งานอีกแน่นอน
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเว็บไซต์มี User Experience ที่ดี
- ผู้ใช้งานประทับใจ ใช้เวลาบนเว็บไซต์นาน กดไปอ่านข้อมูลต่อในหน้าอื่น ๆ บนเว็บไซต์
- Bounce Rate (อัตราการตีกลับ) ลดลง
- เว็บไซต์มีความน่าเชื่อถือในสายตา Google
- อันดับ SEO Ranking บน SERP สูงขึ้น
- เพิ่มอัตราการมองเห็น (Impression) เพิ่มยอดคลิก และเพิ่มยอดขาย (Conversion Rate)
- ธุรกิจเติบโตและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ทั้งหมดที่อธิบายไปนี้ ผู้ใช้งานเว็บไซต์ของคุณ (User) ก็รับรู้ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการปรับปรุงเว็บไซต์ให้พร้อมอยู่เสมอและมีประสิทธิภาพที่ดี ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของ Core Web Vitals จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกับเว็บไซต์ที่คาดหวังผลลัพธ์จาก Organic Search อย่างการทำ SEO นั่นเอง
Core Web Vitals มีอะไรบ้าง?
เดิมทีเกณฑ์การให้คะแนน Core Web Vitals จะมีอยู่ 3 เกณฑ์ด้วยกันคือ LCP (ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์), CLS (ความเสถียรของหน้าเว็บไซต์) และ FID (ความหน่วงหรือความเร็วในการตอบสนองของหน้าเว็บไซต์) แต่ในภายหลังได้ยกเลิก FID ไป เนื่องจากค่อนข้างผันผวนและผลลัพธ์ไม่แม่นยำ โดยได้มีการนำ INP เข้ามาแทน พร้อมกับตัวชี้วัดใหม่คือ FCP และ TTFB สรุปว่าในปี 2024 นี้ Core Web Vitals แบ่งออกเป็น 5 เกณฑ์ โดยมี LCP, INP และ CLS เป็นเกณฑ์หลัก และมี FCP กับ TTFB เป็นเกณฑ์รองนั่นเอง
1. Largest Contentful Paint (LCP)
Largest Contentful Paint (LCP) คือคะแนนที่ใช้วัดความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ ซึ่งจะวัดจากระยะเวลาในการโหลดเนื้อหาที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดอย่างวิดีโอหรือรูปภาพ (ผู้ใช้งานเข้ามาในเว็บไซต์ แล้วต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าเนื้อหาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหน้านั้นจะปรากฏให้เห็น)
เกณฑ์มาตรฐานของ LCP
- Good (ดีที่สุด) : ใช้ระยะเวลาน้อยกว่า 2.5 วินาที
- Need Improvement (ควรปรับปรุง) : 2.5 – 4 วินาที
- Poor (แย่ ต้องแก้ไขโดยด่วน) : ตั้งแต่ 4 วินาทีขึ้นไป
2. Interaction to Next Paint (INP)
Interaction to Next Paint (INP) คือคะแนนที่ใช้วัดความเร็วในการตอบสนองของเว็บไซต์ทั้งหน้า ต่อการกระทำของผู้ใช้งาน โดยจะวัดระยะเวลาตั้งแต่กด “คลิก” ไปจนถึงการแสดงผลเสร็จสิ้น
เกณฑ์มาตรฐานของ INP
- Good (ดีที่สุด) : ไม่เกิน 200 ms (0.2 วินาที)
- Need Improvement (ควรปรับปรุง) : 200 – 500 ms (0.2 – 0.5 วินาที)
- Poor (แย่ ต้องแก้ไขโดยด่วน) : มากกว่า 500 ms (0.5 วินาที)
3. Cumulative Layout Shift (CLS)
Cumulative Layout Shift (CLS) คือคะแนนที่ใช้ในการวัดความเสถียรของ Layout บนหน้าเว็บไซต์ เช่น ขนาดของตัวหนังสือที่แตกต่างกัน การเลื่อนเคลื่อนที่ของปุ่มต่าง ๆ ที่ขยับไปมา หรือตอนที่กำลังอ่านเนื้อหาอยู่ดี ๆ หน้าเว็บไซต์ก็เด้งไปตรงเนื้อหาส่วนอื่นเองซะงั้น
เกณฑ์มาตรฐานของ CLS
- Good (ดีที่สุด) : น้อยกว่า 0.1 วินาที
- Need Improvement (ควรปรับปรุง) : 0.1 – 0.25 วินาที
- Poor (แย่ ต้องแก้ไขโดยด่วน) : มากกว่า 0.25 วินาที
4. First Contentful Paint (FCP)
First Contentful Paint (FCP) คือค่าคะแนนที่ได้มาจากการวัดระยะเวลาตั้งแต่ที่ผู้ใช้งานกดเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ จนถึงเนื้อหาแรกบนหน้าเว็บไซต์ปรากฏขึ้น เช่น ตัวหนังสือ รูปภาพ หรือโครงสร้างหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของ HTML
เกณฑ์มาตรฐานของ FCP
- Good (ดีที่สุด) : ไม่เกิน 1.8 วินาที
- Need Improvement (ควรปรับปรุง) : 1.8 – 3.0 วินาที
- Poor (แย่ ต้องแก้ไขโดยด่วน) : มากกว่า 3 วินาที
5. Time to First Byte (TTFB)
Time to First Byte (TTFB) คือตัวชี้วัดที่ใช้ในการวัดความเร็วของเซิร์ฟเวอร์ในการตอบสนองต่อคำขอของเบราว์เซอร์ โดยวัดเวลาตั้งแต่เบราว์เซอร์ส่งคำขอไปจนถึงเซิร์ฟเวอร์เริ่มส่งข้อมูลกลับมา ยิ่งค่า TTFB ต่ำแค่ไหน แปลว่าเว็บไซต์คุณเร็วมากขึ้นเท่า (ยิ่งต่ำยิ่งดี)
เกณฑ์มาตรฐานของ TTFB
- Good (ดีที่สุด) : ไม่เกิน 800 ms (0.8 วินาที)
- Need Improvement (ควรปรับปรุง) : 800 – 1800 ms (0.8 – 1.8 วินาที)
- Poor (แย่ ต้องแก้ไขโดยด่วน) : มากกว่า 1800 ms (1.8 วินาที)
วิธีเช็กคะแนน Core Web Vitals ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
คุณสามารถตรวจสอบ Core Web Vitals ของเว็บไซต์ตัวเองและคู่แข่งได้ง่าย ๆ ด้วยการเข้าไปที่ https://pagespeed.web.dev/ จากนั้นให้ใส่ URL ลงในช่อง “Enter a web page URL” และกด “Analyze” จากนั้นระบบก็จะประมวลผลและแสดงผลลัพธ์ว่าเว็บไซต์ของคุณผ่านเกณฑ์ใดบ้าง ดังภาพตัวอย่างของเว็บไซต์ ANGA ด้านล่างนี้
บทสรุป
สรุปได้ว่า Core Web Vitals คือเกณฑ์ของ Google ที่ใช้ในการชี้วัดประสิทธิภาพของเว็บไซต์ในด้านของ User Experience เพราะ Google รู้ดีว่าถ้าเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่อยู่บนระบบของ Google ใช้งานง่ายและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี จะส่งผลให้ผู้ใช้งานกลับมาใช้งาน Google Search อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ Core Web Vitals จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนทำ SEO และเจ้าของเว็บไซต์ไม่ควรมองข้ามไป