UTM คืออะไร ? เครื่องมือวัดผลการทำการตลาดออนไลน์ที่ห้ามพลาด
สิ่งสำคัญของการทำการตลาดออนไลน์ คือ สามารถวัดผลได้ว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร เพื่อให้ทราบว่าวิธีไหนที่โดนตากลุ่มเป้าหมายจนช่วยเพิ่ม Traffic ของเว็บไซต์เราได้ดีที่สุด แน่นอนว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับเครื่องมือที่นิยมใช้ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น Google Analytics หรือ Google Search Console แต่วันนี้เราจะมาแนะนำเครื่องมือที่ช่วยวัดผลได้แม่นยำขึ้น นั่นก็คือการติด UTM Tracking ในบทความนี้จะพาไปรู้จักว่า UTM คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรกับธุรกิจของเรา
UTM คืออะไร?
UTM ย่อมาจาก Urchin Tracking Module คือเครื่องมือการตลาดที่ใช้สำหรับระบุช่องทางการเข้าถึงเว็บไซต์ (Website Traffic) โดยใส่ตัวแปรต่าง ๆ ลงไปต่อท้ายลิงก์ URL ของหน้าเว็บ เพื่อให้เราทราบที่มาของ Traffic ว่ามาอย่างไร มาจากที่ใด ช่วยวัดผลทางการตลาดและคัดเลือกว่าช่องทางใดที่ได้ผลดีกับธุรกิจของเรา ซึ่งจะช่วยให้เราวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ตัวอย่างลิงก์ที่ยังไม่ได้ติด UTM : https://www.anga.com/product/
- ตัวอย่างลิงก์ที่ติด UTM : https://www.anga.com/product/?utm_source=little&utm_medium=banner&utm_campaign=mid-year-sale-product
เมื่อติด UTM จะทำให้ลิงก์ของเรายาวขึ้น มองดูไม่สวยงาม แนะนำให้นำลิงก์ไปที่เว็บสำหรับย่อลิ้งก์ (Shorten URL) เพื่อย่อให้สั้นลง ก่อนจะนำไปใช้งาน
รู้จัก 5 องค์ประกอบของ UTM
องค์ประกอบของ UTM จะแบ่งเป็น 5 ส่วน แต่โดยพื้นฐานสามารถใช้เพียง 3 ส่วนหลัก คือ source medium และ campaign ก็ทำให้เราสามารถติดตามวัดผลแคมเปญได้แล้ว และอีก 2 ส่วน คือ Term และ Content สามารถเลือกใช้เสริมได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบแคมเปญของเรา
Source
Source หรือ utm_source คือส่วนที่ใช้บอกแหล่งที่มาของ Traffic ในเว็บไซต์ของเราว่ามาจากที่ไหน (Where) ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter Instagram หรือเว็บไซต์ที่เราไปฝากให้ช่วยโปรโมท เช่น เราให้เว็บไซต์ little.com ช่วยโปรโมทหน้า Product ของเว็บไซต์เรา เราจะระบุ utm ว่า utm_source=little นั่นเอง
Medium
Medium หรือ utm_medium คือส่วนที่บอกว่าผู้ชมเว็บไซต์ของเราเข้ามาด้วยวิธีไหน ช่วยให้แบ่งแยกวิธีที่คนคลิกได้ โดยสามารถเป็นได้ทั้งการคลิกแบนเนอร์ คลิกลิงก์ คลิกโฆษณา หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เชื่อมมายังเว็บไซต์ของเรา เช่น เราให้เว็บไซต์ little.com โปรโมทหน้า Product โดยการขึ้นแบนเนอร์บนเว็บไซต์ของเขา เพื่อให้คนคลิกแบนเนอร์แล้วมาที่เว็บไซต์ของเรา เราจะใช้ utm_medium ว่า utm_medium=banner
Campaign
Campaign หรือ utm_campaign เป็นส่วนที่ใช้ระบุแคปเปญที่เราทำ เพราะในบางครั้งอาจมีการโปรโมทหลายแคมเปญในช่วงเวลาเดียวกัน การใส่ utm_campaign จะทำให้เราแยกได้ว่า Traffic มาจากแคมเปญใด ยกตัวอย่างชื่อแคมเปญว่า midyearsaleproduct จะระบุ utm_campaign ว่า utm_campaign=mid-year-sale-product
เมื่อได้ 3 องค์ประกอบของ UTM จะนำแต่ละส่วนมาเชื่อมกันด้วยเครื่องหมาย & และใส่ต่อท้าย URL ของเรา ก็จะได้ออกมาหน้าตาประมาณนี้ :
https://www.anga.com/product/?utm_source=little&utm_medium=banner&utm_campaign=mid-year-sale-product
นอกจาก 3 องค์ประกอบข้างต้นแล้วยังมีอีก 2 องค์ประกอบที่เหลือ คือ Term และ Content ซึ่งจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการวัดผล
Term
Term หรือ utm_term ใช้สำหรับแคมเปญที่มีการใช้ Google Ads และมีการซื้อ Keyword ซึ่ง Term จะเป็นส่วนที่บอกว่าผู้ชมเว็บไซต์มาจาก Keyword ใดมากที่สุด
Content
Content หรือ utm_content คือส่วนที่ใช้บอกเนื้อหาที่แตกต่างกันในแคมเปญนั้น ๆ เพื่อแยกว่าคนเข้ามาจากคอนเทนต์ไหนมากที่สุด เช่น ใน 1 แคมเปญทำรูปภาพแบนเนอร์หลายรูป สามารถใส่ utm_content เข้าไปเพิ่มเพื่อวัดภาพว่ารูปภาพใดที่คนคลิกมากที่สุด
UTM มีประโยชน์อย่างไรทำไมจึงควรติดเครื่องมือนี้ไว้
การทำแคมเปญเพื่อโปรโมทธุรกิจ สินค้า หรือบริการ เราย่อมอยากรู้ผลลัพธ์ของแคมเปญ ช่องทางการโปรโมทไหนทำแล้วรุ่ง ช่องทางไหนทำแล้วดูน่าจะไม่รอด การทำ UTM จึงเป็นตัวช่วยทำจะทำให้คุณมองเห็น Performance ของการตลาดที่ทำอยู่ในมิติที่กว้างกว่าเดิม
ระบุที่มาของ Traffic ได้อย่างแม่นยำ
การติด UTM ท้าย URL จะช่วยให้เราทราบแหล่งที่มาของ Traffic ที่แน่ชัด ทำให้เราสามารถเปิดช่องทางที่ช่วยเพิ่ม Traffic ให้กับเว็บไซต์ได้
วัดผลแคมเปญการตลาดออนไลน์ได้แม่นยำ
ในบางครั้งบริษัทอาจมีการทำแคมเปญหลาย ๆ แคมเปญในช่วงเวลาเดียวกัน แล้วแคมเปญไหนดีที่สุด ใช้เป็นแนวทางการตลาดในอนาคตการใส่ utm_campaign จึงเข้ามาช่วยหาคำตอบให้กับคุณว่าแต่ละแคมเปญมี Performance เป็นอย่างไร Traffic ที่เข้ามาเว็บไซต์ของเรามาจากแคมเปญใดมากที่สุด
ใช้เป็นแนวทางการตลาดในอนาคต
แทนที่จะหว่านแหทำการตลาดทุกช่องทาง เช่น ฝากเว็บไซต์ชื่อดังโปรโมทโดยใช้แบนเนอร์ ฝากให้ influencer A โพสต์โปรโมทบน Instagram และซื้อโฆษณา Google Ads ด้วยตัวเอง แต่เมื่อติดตั้ง UTM จะทำให้เราวัดผลการทำแคมเปญหรือการทำการตลาดออนไลน์ได้ มองเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าช่องทางไหนได้ผลจริง หากช่องทางไหนผลลัพธ์ไม่ดีก็ยกเลิกไปเลย ช่วยลดค่าใช้และสามารถนำข้อมูลไปวางแผนการตลาดในอนาคตให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม
วิธีสร้าง UTM ง่าย ๆ ที่คุณก็ทำได้
การสร้าง UTM สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงใช้ Campaign URL Builder ของ Google Analytics แล้วใส่แต่ละส่วนตามช่องต่าง ๆ จะได้ URL ที่มีการใส่ UTM แล้ว สามารถ Copy ลิงก์ไปใช้งานได้เลย
เรียกได้ว่าการติด UTM เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจหรือนักการตลาดออนไลน์ทั้งหลายไม่ควรมองข้าม นอกจากจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้งานฟรี และสามารถทำได้ง่าย ๆ อย่างที่ ANGA แนะนำ