สแปมคืออะไร ภัยร้ายบนโลกออนไลน์ที่คุณต้องระวัง
ANGA เชื่อว่าคุณน่าจะเคยเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “สแปม (Spam)” มาแล้ว ลองนึกดูสิว่าคุณเคยเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ไหม ทั้งมีข้อความแปลก ๆ เด้งมาจากใครก็ไม่รู้บน Facebook Messager ทั้งกล่องจดหมายของอีเมลก็เต็มไปด้วยอีเมลอะไรไม่รู้ที่เราไม่ต้องการ ฯลฯ พวกข้อความต่าง ๆ ที่ถูกส่งมาโดยที่เราไม่ได้อนุญาตนี่แหละคือสแปม นอกจากจะทำให้เรารู้สึกไม่แฮปปี้แล้ว ยังทำให้เราเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพได้อีกด้วย มาทำความรู้จักว่าสแปมคืออะไรให้มากขึ้น และไขข้อสงสัยว่าการที่เราถูกแจ้งว่าเป็นสแปมคืออะไรกันแน่
สแปมคืออะไร
สแปมคือการส่งข้อมูลหรือข้อความที่ไปยังผู้รับ โดยที่ผู้รับไม่ได้เรียกร้องหรืออนุญาตมาก่อน จึงทำให้เกิดความสับสนและรำคาญ ส่วนมากมักจะเป็นสแปมโฆษณาเชิญชวนของเว็บไซต์ผิดกฎหมายต่าง ๆ และไม่เพียงเท่านั้นในบางกรณีสแปมดังกล่าวอาจจะมาจากเหล่าแฮกเกอร์ที่ต้องการโจรกรรมข้อมูลของผู้รับก็ได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้รับเสี่ยงอันตรายเข้าไปอีก (เรียกว่าการ Phishing) โดยคุณสามารถพบเจอสแปมได้บนหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นอีเมล กล่องข้อความ และยังรวมไปถึงโพสต์บน Social Media ต่าง ๆ ด้วย
ถูกแจ้งว่าเป็นสแปม คืออะไร
การถูกแจ้งว่าเป็นสแปมเป็นการที่โพสต์หรือความคิดเห็นของคุณถูกผู้อื่นรายงานต่อระบบว่าเป็นสแปม อาจจะเป็นเพราะเนื้อหาไม่เหมาะสม หรือเนื้อหาขัดต่อกฎของชุมชนก็เป็นได้ โดยระบบของแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะทำการรับคำขอแจ้งสแปมเข้ามา จากนั้นจะทำการตรวจสอบโพสต์หรือความคิดเห็นของคุณ พร้อมกับส่งแจ้งเตือนไปยังคุณว่าเป็นสแปม การโดนแจ้งว่าเป็นสแปมบ่อย ๆ อาจทำให้บัญชีของคุณถูกแบนได้ ซึ่งระยะเวลาในการแบนก็จะมีตั้งแต่ 24 ชั่วโมง, 1 วัน, 1 สัปดาห์, 1 เดือน ไปยันแบนถาวรเลยก็มีเช่นกัน
สาเหตุที่ทำให้ถูกแจ้งว่าเป็นสแปมคืออะไร
- โพสต์เนื้อหาเดิมซ้ำ ๆ หลายครั้ง
- โปรโมตสินค้าหรือบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต
- การใช้ภาษาหรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
- พยายามหลอกลวงหรือสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้ใช้งานอื่น
- การโพสต์เนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังถูกแจ้งว่าเป็นสแปมคืออะไร
- การลบโพสต์หรือเนื้อหาที่ถูกรายงาน
- การแจ้งเตือนให้ปรับปรุงพฤติกรรมการใช้งาน
- การจำกัดการใช้งานบางฟังก์ชันของบัญชี
- การระงับบัญชีชั่วคราวหรือถาวร
สแปมมีกี่ประเภท?
- Email Spam หรือ สแปมเมลคืออีเมลโฆษณาหรือข้อเสนอทางการเงิน ที่ถูกส่งไปยังผู้รับจำนวนมากโดยที่ผู้รับไม่ได้เรียกร้องหรือยินยอมให้ส่งเข้ามา
- Mobile Spam คือสแปมทางโทรศัพท์ มีทั้งการโทรเข้ามาแบบอัตโนมัติและการส่ง SMS หลอกลวง
- สแปม Messenger คือการส่งข้อความที่ไม่พึงประสงค์ผ่าน Facebook Messenger นอกจากจะเป็นข้อความของบุคคลที่ส่งไปหาผู้คนจำนวนมากแล้ว ข้อความของผู้ที่ไม่ได้เป็นเพื่อนหรือผู้ที่ไม่ได้รับการยืนยันตัวตนบน Facebook ก็จะถูกนับว่าเป็นสแปมด้วย
- สแปมไอจีคือข้อความจากผู้อื่นหรือเนื้อหาไม่พึงประสงค์ ที่ถูกส่งผ่าน Instagram Direct Message ก็จะมีทั้งการโฆษณาและการหลอกลวงเพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัวของผู้รับ
- SEO Spam คือการใช้เทคนิคที่ผิดกฎ (Blackhat SEO) ในการหลอกอัลกอริทึ่มของ Search Engine เพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับ SEO เช่น การสแปมคีย์เวิร์ด และ Spam Backlink เป็นต้น
7 วิธีรับมือกับสแปมบนโลกออนไลน์
ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่าย ๆ เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต และการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น นอกจากหนุ่มสาววัยทำงานแล้ว น้อง ๆ วัยเรียนและผู้สูงอายุก็สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้สูงอายุอย่างคุณพ่อ-คุณแม่เราขึ้นไป จึงเป็นเหยื่อชั้นดีที่เหล่าผู้ร้ายต้องการส่งสแปมไปให้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักจะไม่ได้ตามข่าวสารใหม่ ๆ และรู้ไม่เท่าทันเทคโนโลยี จึงทำให้เผลอใจคลิกลิงก์สแปมและทำตามที่มิจฉาชีพบอกได้ไม่ยากเลย เรามาดูวิธีรับมือกับสแปมบนโลกออนไลน์กันดีกว่า รู้ไว้ไม่เสี่ยง แถมเอาไปเป็นไกด์ไลน์เตือนคนที่บ้านได้อีกด้วย
- เปิดใช้ตัวกรองสแปมอัตโนมัติ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและอีเมลที่ใช้งาน รวมถึงการตั้งค่าระบบบนโทรศัพท์มือถือด้วย
- รายงานและบล็อกบัญชีของผู้ที่ส่งสแปมมาให้กับคุณ เพื่อไม่ให้มีสแปมจากบัญชีเดิมเข้ามาอีก
- หลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้ผู้อื่นทราบ โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลส่วนตัวอย่างเบอร์โทรศัพท์และอีเมลบนโลกออนไลน์
- อัปเดตซอฟต์แวร์และระบบปฏิบัติการเสมอ เพราะเวอร์ชันใหม่ ๆ จะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
- ใช้อีเมลส่วนตัวหรืออีเมลทำงาน แยกกับอีเมลที่ใช้สมัครสมาชิกบนเว็บไซต์และกิจกรรมออนไลน์ต่าง ๆ
- อย่าตอบโต้ ตอบกลับ คลิกลิงก์ หรือทำตามข้อความสแปม
- ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่ออัปเดตกลลวงใหม่ ๆ ของมิจฉาชีพ
บทสรุป
สรุปได้ว่า Spam หรือสแปมคือข้อความไม่ถึงประสงค์ ที่มาจากบัญชีและผู้ส่งที่เราไม่รู้จัก โดยที่เราไม่ได้ร้องขอไปและอนุญาตให้ส่งมาแต่อย่างใด ซึ่งสแปมมักจะมาในรูปแบบของ SMS, อีเมล และข้อความบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งในทางกลับกันคุณก็สามารถเป็นสแปมได้เช่นกัน หากคุณมีพฤติกรรมการใช้งานที่ขัดต่อกฎของแพลตฟอร์ม กลุ่ม คอมมูนิตี้ และรวมถึงการส่งข้อความเดิมซ้ำ ๆ ไปยังหลาย ๆ ผู้รับด้วย ทั้งนี้ สแปมไม่ได้สร้างความรำคาญให้แก่ผู้รับเพียงอย่างเดียว ยังสร้างความไม่ปลอดภัยให้แก่ผู้รับได้อีกด้วย และเราก็ได้แนะนำวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงสแปมให้คุณได้ทราบแล้ว อย่าลืมเอาไปบอกเพื่อนและคนที่บ้านด้วยล่ะ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ