
รู้จัก FOMO คืออะไร พร้อมแนวทางการทำ FOMO Marketing ในปี 2025
รู้หรือไม่ว่าความกลัวพลาดโอกาสดี ๆ ในชีวิต หรือ FOMO สามารถนำมาใช้เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ทรงพลังได้? FOMO คือพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อยในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับ Social Media ซึ่งพวกเขามักรู้สึกกังวลเมื่อเห็นเพื่อน ๆ ในโซเซียลได้ลองร้านเปิดใหม่ หรือซื้อสินค้าคอลเลกชันพิเศษที่มีจำนวนจำกัดกัน ดังนั้น ANGA จึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับพฤติกรรมนี้ ว่า FOMO คืออะไรกันแน่ มีพฤติกรรมอย่างไร และ FOMO กับ JOMO แตกต่างกันอย่างไร พร้อมเรียนรู้วิธีนำ FOMO Marketing มาใช้กับธุรกิจออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพในปี 2025

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ Mozartcultures
FOMO คืออะไร
FOMO คือความรู้สึกกลัวที่จะพลาดโอกาสหรือพลาดประสบการณ์บางอย่างไป คุณอาจเคยรู้สึกแบบนี้ เช่น เมื่อเห็นแบรนด์โปรดจัด Flash Sale ลดราคาสินค้าที่อยากได้ ก็รีบกดสั่งซื้อทันทีเพราะกลัวของหมด หรือเห็นร้านอาหารเปิดใหม่มีโปรโมชันลด 50% สำหรับ 100 ท่านแรก ก็รีบไปต่อคิวตั้งแต่เช้าเพราะกลัวจะไม่ได้ส่วนลด ซึ่งพฤติกรรม FOMO มักเกิดจากการเห็นโพสต์ในโซเชียลมีเดียที่คนอื่นได้ลองหรือมีประสบการณ์กับสิ่งที่น่าสนใจ เช่น เห็นเพื่อนโพสต์รูปกระเป๋ารุ่นลิมิเต็ดที่มีขายเฉพาะที่ญี่ปุ่น ก็รู้สึกอยากได้และกลัวว่าถ้าไม่รีบซื้อตอนนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของ หรือเห็นรีวิวสกินแคร์ตัวใหม่ที่กำลังเป็นกระแสว่าใช้แล้วดีมาก ก็รีบซื้อมาลองตามกระแสทันที
ซึ่งความกลัวที่จะพลาดโอกาสหรือ FOMO นี่เอง เป็นจุดเริ่มต้นของกลยุทธ์การตลาดแบบใหม่ที่เรียกว่า FOMO Marketing จากการใช้ประโยชน์ของอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค มาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว แต่ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจว่า FOMO Marketing คืออะไร ขออธิบายก่อนว่า FOMO ต่างกับ JOMO อย่างไร เพราะมีคนจำนวนมากที่ยังเข้าใจผิดอยู่ว่าทั้งสองสิ่งนี้เหมือนกัน
FOMO ต่างกับ JOMO อย่างไร
FOMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out คือความรู้สึกกลัวพลาดโอกาสและพยายามตามกระแสให้ทัน ในขณะที่ JOMO (Joy of Missing Out) คือความสุขที่ได้เลือกพลาดบางสิ่งและใช้ชีวิตตามจังหวะของตัวเอง เช่น ไม่รู้สึกเดือดร้อนที่ไม่ได้ไปลองคาเฟ่เปิดใหม่ที่คนแห่ไปถ่ายรูป หรือไม่รู้สึกว่าต้องรีบซื้อกระเป๋ารุ่นลิมิเต็ดที่เพื่อน ๆ กำลังตามหา แต่เลือกใช้เวลาไปกับสิ่งที่ตัวเองชอบจริง ๆ เช่น อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ หรือทำกิจกรรมกับครอบครัว โดยไม่สนใจว่าจะกำลังพลาดอะไรไปบ้าง

FOMO (Fear of Missing Out)
- อัปเดตข่าวสาร ตามทันเทรนด์ และไม่พลาดโอกาสดี ๆ
- เข้าสังคมง่ายเพราะรู้เรื่องที่คนอื่นพูดถึงกัน
- ได้ลองประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
- ได้รับสิทธิพิเศษและดีลดี ๆ จากการติดตามข่าวสาร
JOMO (Joy of Missing Out)
- มีเวลาคุณภาพให้ตัวเองและครอบครัว
- มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
- ประหยัดเงินเพราะไม่ซื้อตามกระแส
- มีความเครียดและความกังวลลดลง
FOMO Marketing คืออะไร
FOMO Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ใช้จิตวิทยาความกลัวพลาดโอกาส (Fear of Missing Out) มากระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค โดยสร้างความรู้สึกเร่งด่วนและความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหรือประสบการณ์นั้น ๆ เช่น การจำกัดจำนวนสินค้า การลดราคาในระยะเวลาสั้น ๆ หรือการสร้างคอลเลกชันพิเศษที่มีเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น นักการตลาดมักใช้เทคนิค FOMO Marketing ผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การแสดงจำนวนคนที่กำลังดูสินค้า (มีผู้สนใจกำลังดูสินค้านี้ 457 คน), การแจ้งเตือนสต๊อกคงเหลือ (เหลือเพียง 5 ชิ้นสุดท้าย) หรือการใช้ตัวนับเวลาถอยหลัง (เหลือเวลาโปรโมชันอีก 1 ชั่วโมง) เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้สึกว่าต้องรีบตัดสินใจก่อนจะพลาดโอกาส
ตัวอย่าง FOMO Marketing ที่พบเห็นได้บ่อย
- แคมเปญ Flash Sale ลดราคาพิเศษเพียง 1 ชั่วโมง
- คอลเลกชันพิเศษที่ร่วมมือกับศิลปินหรือแบรนด์ดัง
- คอลเลกชันเฉพาะวันเทศกาลสำคัญ อย่างวาเลนไทน์
- โปรโมชันหรือสินค้าแถมสำหรับลูกค้า 100 ท่านแรกเท่านั้น
- ส่วนลดพิเศษเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีน
- แคมเปญสะสมแต้มแลกของรางวัลมูลค่าสูง

5 แนวทางการทำ FOMO Marketing ในปี 2025
อยากทำ FOMO Marketing เอาชนะคนผู้บริโภคกลุ่ม FOMO ให้ได้ผลต้องเข้าใจจิตวิทยาของลูกค้าที่กลัวพลาดโอกาสดี ๆ และอยากเป็นคนแรก ๆ ที่ได้ลองสิ่งใหม่ นักการตลาดสามารถใช้หลายเทคนิคผสมผสานกันเพื่อสร้างแคมเปญที่มีประสิทธิภาพและกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้อย่างอิสระ แต่ก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อผู้รับสารด้วย
1. กำหนดเวลาจำกัดเพื่อเร่งการตัดสินใจ
การจำกัดเวลาเป็นเทคนิคที่ได้ผลดีที่สุดในการกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจเร็วขึ้น เช่น จัด Flash Sale ลดกระหน่ำ 24 ชั่วโมง หรือส่งฟรีเฉพาะสัปดาห์นี้เท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องรักษาคำพูด ไม่ขยายเวลาเพิ่มเพราะจะทำให้แบรนด์เสียความน่าเชื่อถือได้ ลองยิงโฆษณา Facebook Ads ที่มีการจำกัดเวลาร่วม เพื่อเร่งยอดขายให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
2. เลือกใช้คำที่กระตุ้นอารมณ์
การเลือกใช้คำที่กระตุ้นความรู้สึกเร่งด่วนและสร้างความรู้สึกพิเศษเป็นสิ่งสำคัญในการทำ FOMO Marketing เช่น “เหลือเพียง 5 ชิ้นสุดท้าย!” “ด่วน! วันนี้วันเดียวเท่านั้น” “พิเศษสุดสำหรับ 50 คนแรก” แต่ต้องระวังไม่ใช้คำที่เกินจริงหรือหลอกลวง เพราะจะทำให้แบรนด์เสียความน่าเชื่อถือ ควรทำ A/B Testing กับโฆษณาเพื่อทดสอบว่าการใช้คำแบบไหนได้ผลตอบรับดีที่สุด และปรับแต่งข้อความให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่อไป
3. แสดงให้เห็นว่าคนอื่นกำลังสนใจ
การแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากกำลังสนใจหรือซื้อสินค้าของคุณจะกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อตาม เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่อยากพลาดสิ่งที่คนอื่นกำลังพูดถึง ลองแสดงจำนวนคนที่กำลังดูสินค้าแบบเรียลไทม์ “มีผู้สนใจกำลังดูสินค้านี้ 284 คน” หรือแสดงรีวิวจากลูกค้าจริงที่ใช้สินค้าแล้วประทับใจ รวมถึงให้อินฟลูเอนเซอร์มารีวิวเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ควรทำ SEO ให้รีวิวเหล่านี้ขึ้นหน้าแรก Google เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ด้วย
4. สร้างคอนเทนต์ที่หมดอายุเร็ว
การสร้างคอนเทนต์แบบชั่วคราวอย่าง Instagram Stories หรือ Facebook Live ที่มีอายุเพียง 24 ชั่วโมง จะกระตุ้นให้คนรีบดูเพราะกลัวพลาดข้อมูลสำคัญ ลองไลฟ์สดเปิดตัวสินค้าใหม่พร้อมโปรโมชันพิเศษเฉพาะคนดูไลฟ์ หรือแจกโค้ดส่วนลดผ่านสตอรี่ที่หมดอายุในวันนั้น เทคนิคนี้จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเร่งด่วนได้ดี เพราะผู้ชมต้องตัดสินใจทันทีว่าจะใช้สิทธิ์หรือไม่ นอกจากนี้ ถ้าคุณเป็นธุรกิจ B2B หรือสินค้าของคุณต้องใช้ระยะเวลาในการตัดสินใจซื้อ ควรทำบทความ SEO บนเว็บไซต์ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ลูกค้าสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในภายหลัง
5. ใช้เทคนิค Countdown Timer
การแสดงเวลานับถอยหลังบนเว็บไซต์หรือในโฆษณาเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทรงพลังในการสร้างความรู้สึกเร่งด่วน โดยอาจใช้ตัวนับเวลาถอยหลังในหน้าสินค้า แสดงระยะเวลาที่เหลือของโปรโมชัน หรือเวลาที่เหลือก่อนหมดสิทธิ์จอง ควรใส่ตัวนับเวลาในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดและใช้สีที่โดดเด่น อาจเพิ่มข้อความกระตุ้นเร่งด่วนเมื่อเวลาใกล้หมด และทำให้ตัวนับเวลาปรากฏในทุกหน้าที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญนั้น ๆ
บทสรุป
FOMO คือปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวพลาดโอกาสของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ซึ่งนักการตลาดอย่างเราสามารถนำมาใช้ปรากฏการณ์มาช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจได้ ผ่านการทำ FOMO Marketing ตามแนวทางที่เราได้แนะนำไป ซึ่งคุณก็จะเห็นได้ว่า FOMO Marketing สามารถนำมาใช้ร่วมกับกลยุทธ์การตลาดอื่น ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการยิงโฆษณา TikTok Ads, Facebook Ads, Google Ads หรือ Instagram Ads และการทำ SEO เพื่อกระตุ้นยอดขายและ Conversion Rate บนเว็บไซต์ก็ตาม สุดท้ายนี้ ควรรักษาสมดุลระหว่างการกระตุ้นยอดขายและการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วย จึงจะสามารถนำพาธุรกิจให้เติบโตเหนือคู่แข่งได้อย่างยั่งยืน
บทความที่เกี่ยวข้อง

Organic Traffic คืออะไร พร้อมวิธีเพิ่ม Traffic บนเว็บไซต์
