
URL คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง อยู่ตรงไหน พร้อมแนบตัวอย่าง
URL คือสิ่งที่คุณพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีการเข้าไปใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเมื่อคุณมีการเข้าไปใช้งานเว็บไซต์หรือค้นหาข้อมูลผ่านเบราว์เซอร์ต่าง ๆ คุณต้องเคยเห็น URL มาแล้วอย่างแน่นอน เพียงแต่คุณอาจจะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคือ URL ซึ่ง URL มีความสำคัญมากในการผลักดันเว็บไซต์ธุรกิจให้เติบโต อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการทำ SEO และอันดับเว็บไซต์บน Google Search ด้วย เพื่อลดการสับสนของหลาย ๆ คน ANGA จึงอยากจะชวนคุณมาทำความเข้าใจว่า URL คืออะไร ทำหน้าที่อะไร อยู่ตรงไหน สำคัญอย่างไร และประกอบไปด้วยอะไรบ้าง พร้อมทั้งนำเทคนิคการตั้ง URL ให้มีประสิทธิภาพมาฝากกันด้วย
URL คืออะไร
URL คือชุดข้อความที่ใช้ในการระบุตำแหน่งที่อยู่ของข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นหน้าเว็บ รูปภาพ วิดีโอ หรือไฟล์ดิจิทัลอื่น ๆ โดยจะประกอบด้วยโปรโตคอล (Protocol) ซึ่งเป็นมาตรฐานการสื่อสารข้อมูล เช่น http:// หรือ https:// ตามด้วยชื่อโดเมน (Domain name) ที่เป็นชื่อเฉพาะของเว็บไซต์นั้น ๆ หรือที่อยู่ของข้อมูล ได้แก่ IP Address และอาจมีเส้นทาง (Path) เพิ่มเติมที่ระบุตำแหน่งเฉพาะของข้อมูลภายในเว็บไซต์ด้วย เมื่อเราพิมพ์ URL ไปบนแถบการค้นหาเบราว์เซอร์ ระบบก็นำเราไปสู่หน้าเว็บไซต์ที่ต้องการ สามารถดูตัวอย่าง URL และคำตอบว่า URL อยู่ตรงไหนได้จากภาพประกอบด้านล่างนี้เลย

URL ย่อมาจาก Uniform Resource Locator ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1992 โดย Tim Berners-Lee (ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี) ซึ่ง URL เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนา World Wide Web (www) URL ถูกออกแบบให้เป็นระบบมาตรฐานในการระบุตำแหน่งและเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต มีการใช้สัญลักษณ์ขีดทับ (/) ในการแบ่งลำดับชั้นของข้อมูล ทำให้สามารถจัดการและเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากได้อย่างเป็นระบบ หลักการนี้ยังคงใช้เป็นมาตรฐานของการท่องเว็บมาจนถึงปัจจุบัน
7 องค์ประกอบหลักของ URL
URL ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบหลัก ซึ่งแต่ละองค์ประกอบก็จะมีการทำงานร่วมกันเพื่อระบุตำแหน่งและวิธีการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เมื่อเราเข้าใจว่าองค์ประกอบแต่ละส่วนคืออะไร จะช่วยให้เราสามารถอ่าน กำหนด และใช้งาน URL ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ Sitechecker
- โปรโตคอล (Protocol/Scheme) เป็นส่วนแรกของ URL ที่บอกวิธีการเข้าถึงข้อมูล เช่น ftp://, http:// หรือ https:// ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เพราะมีการติดตั้งใบรับรอง SSL เพื่อยืนยันการเชื่อมต่อที่ปลอดภัย
- โดเมนย่อย (Subdomain) เช่น www., blog. หรือ shop. ซึ่งจะอยู่ก่อนโดเมนหลัก ใช้ในการแบ่งเว็บไซต์เป็นส่วนย่อย
- โดเมนหลัก (Domain Name) ชื่อหลักของเว็บไซต์ที่ผู้ใช้จดจำได้ เช่น anga, google, facebook, amazon ฯลฯ เป็นส่วนที่ต้องจดทะเบียนและไม่ซ้ำกับผู้อื่น
- โดเมนระดับบนสุด (Top-Level Domain) นามสกุลที่ต่อท้ายโดเมนหลัก บอกประเภทของเว็บไซต์ เช่น .com (ธุรกิจ), .org (องค์กร), .edu (การศึกษา) หรือรหัสประเทศ เช่น .th, .uk, .jp
- เส้นทาง (Path) ขึ้นต้นด้วยเครื่องหมาย / เช่น /products, /about, /contact ใช้สำหรับระบุตำแหน่งของหน้าหรือไฟล์ในเว็บไซต์
- คิวรีสตริง (Query String) ใช้ส่งข้อมูลหรือพารามิเตอร์เพิ่มเติม ขึ้นต้นด้วยเครื่องหมาย ? เช่น ?id=123 หรือ ?search=keyword
- แฟรกเมนต์ (Fragment) ขึ้นต้นด้วยเครื่องหมาย # เช่น #section1, #top, #footer ใช้ระบุตำแหน่งเฉพาะในหน้าเว็บ
URL สำคัญอย่างไร เอาไว้ใช้ทำอะไรบ้าง
ยุคนี้เป็นยุคที่แต่ละธุรกิจต่างมุ่งสู่การขายของบนโลกออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะช่องทางเว็บไซต์ที่คุณสามารถสร้างให้เป็นเว็บขายของหรือ E-Commerce ที่มีระบบสินค้าและการชำระเงินอย่างครบครัน ทำให้ URL กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เว็บไซต์เติบโตและประสบความสำเร็จ นอกจากเป็นที่อยู่สำหรับเข้าถึงข้อมูลแล้ว URL ยังส่งผลโดยตรงต่อการทำ SEO และอันดับการแสดงผลบน Google ด้วย เพราะ URL ที่ดีจะช่วยให้ทั้งผู้ใช้และ Search Engine (เครื่องมือค้นหาอย่าง Google) เข้าใจเนื้อหาของเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เว็บไซต์มีโอกาสติดอันดับต้น ๆ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง
เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
URL เป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้กับข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ช่วยให้สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ ไฟล์ รูปภาพ หรือข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เมื่อมีการแชร์ลิงก์ ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้โดยตรง โดยไม่ต้องค้นหาผ่านหลายขั้นตอน ทำให้การใช้งานเว็บไซต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ช่วยให้โครงสร้างเว็บไซต์แข็งแกร่ง
URL มีบทบาทสำคัญในการจัดระเบียบและแบ่งหมวดหมู่เนื้อหาภายในเว็บไซต์ การออกแบบโครงสร้าง URL ที่ดีจะช่วยให้เว็บไซต์มีระบบการจัดการที่เป็นระเบียบ ง่ายต่อการดูแลและอัปเดตข้อมูล รวมถึงช่วยให้ผู้ใช้สามารถคาดเดาตำแหน่งของข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายขึ้นด้วย
ช่วยอันดับ SEO บน Google
URL เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการจัดอันดับในผลการค้นหา การใช้คีย์เวิร์ดที่เหมาะสมใน URL จะช่วยให้ Google เข้าใจเนื้อหาของหน้าเว็บได้ดีขึ้น นอกจากนี้ URL ที่สั้น กระชับ และมีความหมาย ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับ Web Traffic จากผู้ใช้งานในหน้าผลการค้นหาอีกด้วย
ทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ
URL ที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีและถูกต้องตามหลัก จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน ทำให้จดจำที่อยู่เว็บไซต์ได้ง่าย สร้างความน่าเชื่อถือ และช่วยให้เข้าใจเนื้อหาของหน้าเว็บได้ทันทีก่อนคลิกเข้าชม ซึ่งส่งผลดีต่อการสร้างแบรนด์และการทำการตลาดออนไลน์ในระยะยาว

เทคนิคการตั้ง URL ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมตัวอย่าง
- ใช้ URL ที่สั้นและกระชับ
- ใส่คีย์เวิร์ดสำคัญใน URL
- ใช้เครื่องหมายขีดกลาง (-) แทนช่องว่าง
- ใช้ตัวอักษรพิมพ์เล็กทั้งหมด
- หลีกเลี่ยงตัวอักษรพิเศษและตัวเลขที่ไม่จำเป็น
- จัดโครงสร้าง URL ตามลำดับชั้นที่ชัดเจน
- ใช้คำที่สื่อความหมายและเข้าใจง่าย
- หลีกเลี่ยงการใช้ Query String ที่ซับซ้อน
ตัวอย่าง URL ที่ดีและมีประสิทธิภาพ
- https://anga.co.th/seo/
- https://anga.co.th/category/marketing/
- https://anga.co.th/case-study/seo-results-for-motif/
บทสรุป
URL คือส่วนสำคัญที่จะทำให้เว็บไซต์มีความสมบูรณ์และพร้อมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพบน Google Search ซึ่ง URL จะถูกใช้เป็นสะพานเชื่อม ระหว่างผู้ใช้งานและข้อมูลที่พวกเขาต้องการ เมื่อมีการตั้งชื่อ URL อย่างเหมาะสมแล้ว อย่างการสอดแทรกคีย์เวิร์ดสำคัญลงไปใน URL ของบทความ SEO จะทำให้ Search Engine เข้าใจว่าหน้าที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรและจะเข้าไปอ่านเนื้อหาในหน้านั้น หากคุณเขียนเนื้อหาได้ดี มีความเกี่ยวข้องกับชื่อ URL ระบบก็จะดันเว็บไซต์ให้ไปติดอันดับบนหน้าแสดงผลการค้นหา ส่งผลให้มีผู้ใช้งานมองเห็นเว็บไซต์จำนวนมาก ปริมาณ Traffic เพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้เป็นอย่างดี ใครที่เห็นว่า URL บนเว็บไซต์ตัวเองมีการกำหนดหรือเรียบเรียงได้ไม่ถูกต้อง สามารถปรึกษานักพัฒนาเว็บไซต์เพื่อแก้ไขในส่วนนี้เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง

Organic Traffic คืออะไร พร้อมวิธีเพิ่ม Traffic บนเว็บไซต์
