1. หน้าหลัก
  2. อัปเดตการตลาด
  3. 7Ps Marketing Mix หรือ 7P คืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
7Ps Marketing Mix หรือ 7P คือ
เผยแพร่เมื่อ: มีนาคม 7, 2023 | แก้ไขเมื่อ: กรกฎาคม 30, 2024

7Ps Marketing Mix หรือ 7P คืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

Table Of Contents

เชื่อว่าสำหรับหลาย ๆ คนที่เคยเรียนในเรื่องของการตลาด หรือคนที่ไม่เคยเรียนแต่มีโอกาสได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่จะต้องทำการตลาดอาจเคยได้ยินทฤษฎีส่วนประสมทางการตลาด 4P Marketing Mix กันมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ซึ่งคอนเซ็ปต์ 4P เป็นคอนเซ็ปต์ที่ได้รับการยอมรับและใช้งานกันมานานตั้งแต่ปี 1960 และต่อมาก็ได้มีคอนเซ็ปต์ใหม่ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก 4P เพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านการตลาดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม นั่นก็คือ 7Ps Marketing Mix หรือ 7P นั่นเอง 

ใครที่ยังไม่เข้าใจว่าส่วนประสมทางการตลาด 7Ps Marketing Mix คืออะไร? องค์ประกอบของ 7P มีอะไรบ้าง และมีความเหมือนหรือแตกต่างจาก 4P Marketing Mix อย่างไร สามารถเข้ามาหาคำตอบและทำความเข้าใจเรื่อง 7Ps Marketing Mix ไปพร้อม ๆ กับ ANGA ในบทความนี้ได้เลย

7Ps Marketing Mix คืออะไร ทำไมนักการตลาดต้องรู้จัก?

7Ps Marketing Mix หรือเรียกสั้น ๆ ว่า 7Ps หรือ 7P คือส่วนประสมทางการตลาดที่จะช่วยให้คุณเข้าใจธุรกิจ เข้าใจสินค้า และเข้าใจผู้บริโภคมากถึง โดยที่ 7P เปรียบเสมือนกลยุทธ์ที่ถูกนำไปใช้ประกอบแผนการตลาด เพื่อให้สินค้าและบริการของคุณตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดมากที่สุด รวมทั้งยังช่วยสร้างข้อได้เปรียบทางการตลาดให้กับธุรกิจของคุณได้อีกด้วย

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1960 นักการตลาดชาวอเมริกาชื่อ E. Jerome McCarthy ได้คิดค้นแนวคิด 4P Marketing Mix ขึ้นมา โดยเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับตัวสินค้าเป็นหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย Product, Price, Promotion และ Place แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป 4P ก็เริ่มตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้นไม่ได้ จึงทำให้ E. Jerome McCarthy พัฒนา 4P และเพิ่มองค์ประกอบเข้าไปอีก 3 อย่าง เพื่อให้ตอบโจทย์กับทุก ๆ ด้านอย่างครอบคลุมมากขึ้น จนกลายมาเป็น 7Ps Marketing Mix นับตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปัจจุบันนี้

7Ps Marketing Mix คืออะไร

กลยุทธ์การตลาด 7P มีอะไรบ้าง มาดูกัน!

ส่วนผสมทางการตลาด 7Ps มีอะไรบ้าง? มีอะไรเพิ่มเข้ามาใหม่จาก 4Ps ? ถ้าอยากรู้แล้วมาเริ่มกันเลย โดย 7Ps Marketing Mix นั้น จะประกอบไปด้วย Product, Price, Promotion และ Place ที่เป็นองค์ประกอบเดิมจาก 4P Marketing Mix และองค์ประกอบใหม่ 3 อย่าง คือ People, Process และ Physical Evidence ซึ่งองค์ประกอบ ของ 7Ps Marketing Mix มีความหมายดังนี้

กลยุทธ์การตลาด 7P

1. Product (สินค้าหรือบริการ)

คำว่า Product ใน 4P หมายถึงสินค้าหรือบริการที่แบรนด์ต้องการนำเสนอให้แก่ผู้บริโภค แต่คำว่า Product ใน 7P จะมีความหมายมากกว่านั้น ตรงที่ไม่ได้เป็นเพียงสินค้าหรือบริการ แต่ยังครอบคลุมไปถึงคุณสมบัติของสินค้า, คุณภาพของสินค้า, คุณค่าของสินค้าที่ผู้บริโภคจะได้รับ, วิธีการใช้งาน, ประโยชน์ของสินค้า, ฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบสนองต่อผู้บริโภค และรวมไปถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วย

สิ่งที่คุณควรคำนึงถึงในด้านของ Product 

  • สินค้าและบริการของคุณสามารถแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง
  • สินค้าและบริการของคุณมีข้อแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร
  • สินค้าและบริการของคุณมีข้อได้เปรียบอะไรในการแข่งขันกับคู่แข่ง (จุดแข็ง)

2. Price (ราคา)

Price หมายถึงราคา ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการตั้งราคาสินค้าและบริการ เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภคให้มาซื้อสินค้าในราคาที่คุณต้องการและลูกค้าก็พึงพอใจ โดยการตั้งราคาที่ดีจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นหลัก เช่น สมน้ำสมเนื้อกับสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับ มีความสอดคล้องกับคุณภาพของสินค้า หรือราคาไม่ได้สูงมากกว่าคู่แข่งจนเกินไป เป็นต้น หากคุณตั้งราคาโดยคำนึงถึงแต่กำไรที่จะได้รับ โดยไม่ได้สนใจความเหมาะสมหรือคุณภาพของสินค้า อาจจะทำให้สินค้าของคุณไม่ได้รับความนิยมและตามไม่ทันคู่แข่งได้

กลยุทธ์การกำหนดราคาสินค้าและบริการ

  • ตั้งราคาโดยใช้หลักจิตวิทยา เช่น การตั้งราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9
  • ตั้งราคาให้แตกต่างกันตามความต้องการซื้อของลูกค้า
  • ตั้งราคาจากการคิดคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายของสินค้าทั้งหมด
  • ตั้งราคาต่ำกว่าปกติ เพราะเน้นปริมาณการจำหน่ายสินค้าสูง
  • ตั้งราคาสูงตามคุณภาพของสินค้า เพราะเน้นมูลค่าของคำสั่งซื้อแต่ละออเดอร์
  • ตั้งราคาตามระดับของคุณภาพสินค้า (แบ่งเป็นระดับมาตรฐาน ระดับพรีเมียม)
  • ตั้งราคาพิเศษหรือราคาแบบหักส่วนลดตามเทศกาล เพื่อส่งเสริมการตลาด

3. Promotion (การสื่อสารและการส่งเสริมทางการตลาด)

Promotion คือกลยุทธ์การส่งเสริมทางการตลาด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อที่สูงมากกว่าปกติ อาจจะเป็นการยิงโฆษณาออนไลน์ (Facebook Ads, TikTok Ads, Instagram Ads), สร้างคอนเทนต์นำเสนอสินค้า, การจัดกิจกรรมให้ลูกค้ามาร่วมสนุก, การจัดงานเปิดตัวสินค้า, การทำ Influencer Marketing โปรโมตสินค้า หรือทำโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษก็ได้

โดย Promotion จะมีเป้าหมายหลักคือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาสนใจและอยากสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งคุณสามารถจัด Promotion ได้ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (หน้าร้าน) โดยกำหนดราคาและรายละเอียดให้แตกต่างกันได้

4. Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย)

Place คือช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า หรือกระจายสินค้าจากแบรนด์ไปสู่มือของผู้บริโภคได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และรวดเร็วที่สุด ยิ่งช่องทางที่คุณเลือกสะดวกกับผู้บริโภคแค่ไหน ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะขายสินค้าและบริการได้ก็สูงขึ้นไปอีก ซึ่งปัจจัยนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจของคุณมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว

ตัวอย่างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า

  • ร้านค้าของแบรนด์โดยตรง
  • ร้านค้าของตัวแทนจัดจำหน่าย
  • เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ของแบรนด์เอง
  • งานจัดแสดงสินค้าหรืองานอีเวนต์ต่าง ๆ 
  • Online Marketplace อย่าง Lazada, Shopee, Central Online, LINE Shoping, Facebook ฯลฯ

5. People (บุคลากร)

มาเข้าสู่องค์ประกอบของ 7Ps Marketing Mix ตัวแรกกันได้เลย นั่นก็คือ People นั่นเอง โดย People หมายถึงทรัพยากรบุคคล ที่มีทั้งพนักงานภายในองค์กรเอง ทั้งผู้บริโภค และยังหมายถึงบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าด้วย 

People มีหน้าที่หลักคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีกลับไป ช่วยให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ และอยากกลับมาอุดหนุนแบรนด์ซ้ำอีกเพราะความประทับใจที่เกิดขึ้น ดังนั้น People จึงสำคัญมาก ๆ เพราะไม่ว่าสินค้าจะดีแค่ไหนหรือจะทำการตลาดได้ดีมากเท่าไหร่ แต่ถ้าลูกค้าเจอบริการที่ไม่ดี จากบุคลากรที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็สามารถส่งผลเสียที่ร้ายแรงต่อแบรนด์ได้เช่นกัน

สิ่งที่คุณควรทำเพื่อให้บุคลากรในองค์กรมีคุณภาพมากที่สุด

  • การพัฒนาบุคคลให้มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการในเชิงลึก
  • การอบรมการให้บริการลูกค้า ทั้งแบบหน้าร้านและแบบออนไลน์
  • การแนะแนวเรื่องวิธีรับมือลูกค้าในหลาย ๆ รูปแบบ
  • การอบรมเรื่องวิธีการโต้ตอบและบทสนทนาที่ควรพูดกับลูกค้า
  • การให้บริการลูกค้าก่อนและหลังการขาย

6. Process (กระบวนการ)

Process คือกระบวนการต่าง ๆ ที่ธุรกิจเลือกนำมาใช้เพื่อให้สินค้าและบริการออกมามีคุณภาพที่สุด หรือวิธีการในการทำงาน เพื่อให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้า การปรับปรุงบริการ การรักษามาตรฐานของสินค้า การตรวจสอบการให้บริการ การโปรโมตสินค้า การดูแลลูกค้า ฯลฯ โดยจุดประสงค์ของ Process คือการทำให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดกลับไป จากการกำหนด Customer Journey ที่แม่นยำในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การรู้จักสินค้าไปจนถึงการสั่งซื้อสินค้าในท้ายที่สุด

7. Physical Evidence (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)

Physical Evidence คือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่สามารถจับต้องได้ หรือสิ่งที่ลูกค้าได้รับจากการซื้อสินค้าและบริการจากเรา ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น หรือความรู้สึกที่ได้รับก็ตาม ซึ่ง Physical Evidence เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคสูง ถ้าคุณออกแบบเว็บไซต์ให้ใช้งานยาก มีแอปพลิเคชันที่โหลดช้า หรือหน้าร้านที่เดินทางอย่างยากลำบาก พวกเขาก็สามารถล้มเลิกความต้องการได้ภายในไม่กี่วินาทีหลังจากที่เห็น Physical Evidence ที่ไม่ดีได้

ตัวอย่าง Physical Evidence ที่ควรทำออกมาให้ดีที่สุด

  • ความสวยงาม บรรยากาศ และกลิ่นภายในร้านค้า
  • วิธีการเดินทางไปยังหน้าร้านค้า
  • ความสะดวกและความเร็วในการใช้งานเว็บไซต์
  • ฟังก์ชันการใช้งานที่ครบครันบนแอปพลิเคชัน
  • ระบบ Customer Service ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้

ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ 7P เพื่อนำไปใช้ในธุรกิจจริง

ตอนนี้คุณก็ได้คำตอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า 7Ps มีอะไรบ้าง ต่อไปเรามาดูตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจบริษัทขนส่งนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนด้วยการใช้ 7Ps Marketing Mix กัน ว่าสามารถนำมาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง

Product (สินค้าและบริการ) 

  • สินค้าและบริการ : บริการรับสั่งซื้อสินค้าจากจีน และขนส่งสินค้าเข้ามาที่ประเทศไทย
  • จุดแข็งของธุรกิจและข้อได้เปรียบทางการตลาด : มีบริการที่ครบวงจรตั้งแต่การจัดหาสินค้า ประสานงาน สั่งซื้อสินค้า ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทย จัดการภาษี และจัดส่งไปยังบ้านของลูกค้าโดยตรง
  • ธุรกิจนี้สามารถแก้ปัญหาการนำเข้าสินค้าจากจีน ให้กับผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้เรื่องการนำเข้าและไม่สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้สินค้าที่ต้องการด้วยวิธีที่ง่ายและสะดวกมากที่สุด

Price (ราคา)

  • ราคาในการสั่งซื้อสินค้าจากจีนจะยึดตามเรทกลางของบริษัทเพื่อป้องกันราคาผันผวนระหว่างการตัดสินใจซื้อ
  • ไม่มีค่าบริการในการจัดหาสินค้า ประสานงาน และสั่งซื้อสินค้า
  • อัตราค่าขนส่งเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 60 บาท

Promotion (การสื่อสาร)

  • ยิงโฆษณาออนไลน์ อย่าง Facebook Ads และ Google Ads
  • เขียนบทความ SEO ให้ความรู้เรื่องการสั่งซื้อสินค้าจากจีน เพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับใน Google
  • การออกบูทประชาสัมพันธ์ในงานจัดแสดงสินค้าหรืออีเวนต์ต่าง ๆ

Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย)

  • เว็บไซต์ของบริษัท
  • แอปพลิเคชันของบริษัท
  • แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

People (บุคลากร)

  • จัดอบรมพนักงานให้เชี่ยวชาญในด้านการนำเข้าสินค้า
  • จัดอบรมพนักงานให้มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการของบริษัท
  • สร้างมาตรฐานในการให้บริการสำหรับลูกค้าแต่ละคนให้เท่าเทียมกัน
  • มีบทสนทนาพื้นฐานในการโต้ตอบลูกค้าให้ไปในทิศทางเดียวกัน

Process (กระบวนการ)

  • มี Customer Service บนเว็บไซต์โดยการสร้างระบบเคลมสินค้ากรณีที่สินค้าเสียหาย และมีระบบติดตามสถานะออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • โต้ตอบลูกค้าด้วยบทสนทนาพื้นฐานเพื่อให้ข้อมูลเรื่องการนำเข้าสินค้า
  • ควบคุมมาตรฐานการให้บริการลูกค้าให้อยู่ในระดับเดียวกัน
  • มีโกดังทั้งในประเทศจีนและประเทศไทย เพื่อรองรับการขนส่งและการเข้ารับสินค้าได้ด้วยตัวเอง

Physical Evidence (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)

  • มีโกดังเก็บสินค้าในประเทศไทยเป็นของตัวเอง
  • มีโกดังเก็บสินค้าที่สามารถเดินทางเข้าไปรับสินค้าได้ง่ายและสะดวกที่สุด
  • มีออฟฟิศอยู่ใกล้กับโกดังเก็บสินค้า เพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องการเข้ามารับสินค้าด้วยตนเอง
การวิเคราะห์ 7P

ตัวอย่างการวิเคราะห์ 7P ของบริษัท Apple

Apple เป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ใคร ๆ ก็รู้จักกัน มีลูกค้าอยู่ทั่วทุกมุมโลก และลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่ได้จบอยู่ที่สินค้าของ Apple เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น แต่มีการซื้อสินค้าอื่น ๆ เพิ่มอีกด้วย เนื่องจากสินค้าของ Apple สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามาวิเคราะห์กลยุทธ์ 7Ps Marketing Mix ของ Apple กันว่าอะไรที่ทำให้​ Apple มัดใจลูกค้าได้เหนียวแน่นขนาดนี้

Product (สินค้าและบริการ)

  • สินค้าไอที เช่น iPhone (สมาร์ทโฟน), iPad (แท็บเล็ต), AirPods (หูฟังไร้สาย), Apple Watch (นาฬิกาอัจฉริยะ), Mac (คอมพิวเตอร์), iMac (คอมพิวเตอร์), Macbook (โน้ตบุ๊ก) และอุปกรณ์เสริมมากมาย 
  • มีระบบปฏิบัติการเป็นของตัวเอง (iOS และ macOS)
  • มีแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่อย่าง iLife, iWork, iTunes, Safari (เว็บเบราว์เซอร์) และ App Store (ร้านค้าออนไลน์ศูนย์รวมแอปพลิเคชัน iOS)
  • บริการออนไลน์ เช่น บริการสตรีมมิ่งเพลง Apple Music และบริการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ iCloud 

Price (ราคา)

  • Apple ใช้กลยุทธ์การตั้งราคาแบบพรีเมียมที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ การออกแบบ คุณภาพ และนวัตกรรม
  • ราคาจะขึ้นอยู่กับสเปกเครื่อง ฟีเจอร์ของสินค้า และรุ่น

Promotion (การสื่อสาร)

  • มีการจัดโปรโมชันพิเศษในบางโอกาส อย่างโปรโมชันสินค้าราคาพิเศษสำหรับนักเรียนและนักศึกษา
  • เน้นไปที่การสร้าง Story เพื่อสร้างแรงบันดาลและดึงดูดความสนใจของผู้ชม
  • ทำการตลาดบนหลากหลายช่องทาง ทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่

Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย)

  • ร้านค้าทางการ หรือ Apple Store
  • ร้านค้าตัวแทนจำหน่าย อย่าง iStudio, Studio7 และ SPVi 
  • ร้านค้าออนไลน์ (เว็บไซต์ Apple Store Online)
  • ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ อาทิ AIS, DTAC และ True

People (บุคลากร)

  • ทีมบริการลูกค้าทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ
  • ทีมนักออกแบบและวิศวกรมีความเชี่ยวชาญ พัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ เสมอ
  • ทีมการตลาดมีการใช้กลยุทธ์ที่ดี ทำให้สามารถดึงดูดใจลูกค้าได้
  • Apple ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรมาก ทำให้คุณภาพของงานดี มีมาตรฐาน และมีบรรยากาศในการทำงานที่ดี

Process (กระบวนการ)

  • มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการพัฒนาสินค้า
  • กระบวนการผลิตได้มาตรฐาน เข้มงวด ใช้วัสดุที่มีคุณภาพและทนทาน
  • เน้นการออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน
  • มีการทดสอบคุณภาพของสินค้าก่อนวางจำหน่าย
  • รับฟังปัญหาและข้อผิดพลาดของลูกค้า และนำมาปรับปรุงทันที

Physical Evidence (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)

  • หาซื้อสินค้าได้ง่าย ทั้งบนออนไลน์และหน้าสาขาที่มีอยู่ตามห้างมากมาย
  • สามารถเลือกชมและเปรียบเทียบสินค้าด้วยตัวเองผ่านทางเว็บไซต์ตลอด 24 ชั่วโมง
  • มีการออกแบบร้านด้วยดีไซน์ที่เรียบง่าย ให้บรรยากาศเรียนรู้ และกลิ่นที่บางเบา
  • อุปกรณ์ แอปพลิเคชัน และสินค้าของ Apple มีประสิทธิภาพสูง ตอบโจทย์การใช้งาน และสามารถทำงานร่วมกันได้
  • มีฝ่ายบริการลูกค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีเยี่ยม เช่น ติดต่อง่าย ดำเนินการรวดเร็ว และช่วยแก้ปัญหาได้จริง

ตัวอย่างการวิเคราะห์ 7P ของธุรกิจเสื้อผ้า “Gentlewoman”

Gentlewoman เป็นแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทยและเอเชีย เดิมทีจะตีตลาดสาว ๆ วัยทำงาน แต่ตอนนี้ได้เพิ่มไลน์สินค้าสำหรับเด็กด้วย ความมั่นใจและความแข็งแกร่งของคุณจะถูกถ่ายทอดผ่านเสื้อผ้าและสินค้าของ Gentlewoman ช่วยให้ลุคของคุณดูโดดเด่น มั่นใจ สมาร์ท และน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ทำไมแบรนด์ไทยอย่าง Gentlewoman ถึงดังไกลจนชาวต่างชาติต้องมารอต่อคิวเข้าร้านทุกวัน? มาวิเคราะห์กลยุทธ์ 7Ps Marketing Mix ของแบรนด์นี้กัน

Product (สินค้าและบริการ)

  • เสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ มีการออกคอลเลคชั่นใหม่เรื่อย ๆ สามารถสวมได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
  • ดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ มีความทันสมัย เรียบง่ายแต่ซ่อนความหรูหรา ใส่แล้วดูสมาร์ทมั่นใจ ใครใส่ก็ดูดี
  • วัสดุที่ทำมาผลิตเสื้อผ้ามีคุณภาพ สวมใส่สบาย เหมาะกับอากาศในประเทศไทย

Price (ราคา)

  • ราคาเหมาะสมกับคุณภาพ อยู่ในระดับปานกลาง ไม่ได้ถูกมากจนเกินไปและก็ไม่ได้สูงจนซื้อไม่ได้
  • ราคาสินค้าในแต่ละคอลเลคชั่นจะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากมีต้นทุนด้านวัสดุและการดีไซน์ต่างกัน
  • ราคาสินค้าบางรายการอาจไม่เท่ากันได้ ขึ้นอยู่ช่องทางในการจัดจำหน่าย

Promotion (การสื่อสาร)

  • Gentlewoman มีการโปรโมตสินค้าและทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการใช้ Influencer Marketing และ Online Marketing เป็นหลัก
  • มีการจัดโปรโมชันลดราคาเป็นระยะ โดยเฉพาะโปรโมชั่นราคาพิเศษสำหรับสินค้าออกใหม่
  • สินค้าแต่ละคอลเลคชั่นจะมี Story เป็นของตัวเอง ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี

Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย)

  • ร้านค้าทางการบนห้างสรรพสินค้าชั้นนำมากมาย
  • เว็บไซต์ทางการ สำหรับรองรับลูกค้าออนไลน์

People (บุคลากร)

  • นักออกแบบมีความสามารถและรู้ใจลูกค้า ทำให้ออกแบบและพัฒนาสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ ๆ ออกมาได้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ใช้ได้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ 
  • ทีมการตลาดแข็งแกร่ง วางกลยุทธ์ที่เหมาะกับสินค้าและผู้บริโภคได้ ทำให้ใคร ๆ ก็รู้จักแบรนด์และอยากได้สินค้าไปครอง
  • ทีมบริการลูกค้าหน้าร้านและออนไลน์ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี จึงบริการลูกค้าได้อย่างมืออาชีพ และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้

Process (กระบวนการ)

  • มุ่งเน้นไปที่กระบวนการคิดสร้างสรรค์และออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า
  • โรงงานผลิตสินค้ามีมาตรฐาน และมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างเข้มงวด ทำให้พบสินค้ามีปัญหาน้อย

Physical Evidence (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)

  • บอกรายละเอียดทุกอย่างที่ลูกค้าควรรู้ในทุกโพสต์ อย่างช่องทางการซื้อสินค้า เพื่อให้ลูกค้ารู้ได้ทันที โดยไม่ต้องทักถามและรอคำตอบจากแบรนด์
  • มีการนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นการแมทช์เสื้อผ้า เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพว่าสามารถนำสินค้าที่ซื้อไป ครีเอตเป็นลุคแบบไหนได้บ้าง
  • ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเดินทางเข้าไปจับจองซื้อสินค้าจริงที่หน้าร้านได้ทุกวัน

ตัวอย่างการวิเคราะห์ 7P ของธุรกิจร้านกาแฟ “Starbucks”

Starbucks แบรนด์ร้านกาแฟเจ้าดังที่มีสาขามากกว่า 30,000 สาขาทุกประเทศทั่วโลก ถ้าพูดถึงกาแฟแบรนด์หรู ใคร ๆ ก็ต้องตอบว่า Starbucks อย่างแน่นอน ทั้งภาพลักษณ์ รสชาติเครื่องดื่ม คุณภาพสินค้า และโปรโมชันต่าง ๆ ทำให้ Starbucks ได้รับผลตอบรับที่ดี จนมีฐานลูกค้าประจำขนาดใหญ่ และสามารถขยายสาขาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลยุทธ์ 7Ps Marketing Mix ของ Starbucks จะเป็นอย่างไร มาลองดูกันได้เลย

Product (สินค้าและบริการ)

  • Starbucks มีเมนูเครื่องดื่มให้เลือกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเมนูกาแฟ เมนูนม เมนูชา หรือเบเกอรีต่าง ๆ ก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการออกผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่างแก้วกาแฟ, กระเป๋า, ลูกอม, หมากฝรั่ง และอื่น ๆ สำหรับลูกค้าที่เป็นนักสะสมด้วย
  •  ลูกค้าสามารถระบุส่วนผสมที่ต้องการได้ หรือจะบอกว่าเป็นสูตรเฉพาะที่ถูกปากโดนใจลูกค้าแต่ละคนก็ว่าได้
  • เมล็ดกาแฟและวัสดุดิบที่ Starbucks เลือกใช้มีคุณภาพสูง
  • มีการออกแบบแพ็กเกจและแก้วกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เห็นแล้วรู้เลยว่าเป็น Starbucks

Price (ราคา)

  • มีการตั้งราคาสูงกว่าร้านกาแฟทั่ว ๆ ไป แต่คุ้มค่ากับปริมาณและคุณภาพที่ได้รับ
  • เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้มีราคาสูง เพื่อรสชาติและคุณภาพของกาแฟที่ดี จึงทำให้ต้นทุนสูงไปด้วย
  • ราคาของแต่ละเมนูขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมและขนาดของแก้ว

Promotion (การสื่อสาร)

  • มีการจัดโปรโมชัน 1 แถม 1 บ่อย ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าและกระตุ้นยอดขาย
  • มีการเขียนชื่อของลูกค้าบนแก้ว และขานชื่อลูกค้าแต่ละท่าน ช่วยสร้างความประทับใจได้มาก ถือว่าเป็นการส่งเสริมการขายรูปแบบหนึ่ง
  • มี Starbucks® Rewards program สำหรับสมาชิก ที่สามารถสะสมแต้มเพื่อรับเครื่องดื่มฟรีได้

Place (ช่องทางการจัดจำหน่าย)

  • Starbucks มีสาขาอยู่ทั่วประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะบนห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ
  • สามารถสั่งซื้อผ่านช่องทาง Delivery อย่าง Grab หรือ LINE Man ได้
  • Starbucks บางสาขามีบริการ Drive-Thru รองรับ สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้ออย่างรวดเร็ว
  • สินค้าอื่น ๆ อย่างแก้วน้ำ กระเป๋า ฯลฯ นอกเหนือจากเครื่องดื่มและเบเกอรี สามารถซื้อผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Lazada และ Shopee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

People (บุคลากร)

  • พนักงานถูกฝึกอบรมมาอย่างเข้มงวด ทำให้สามารถบริการลูกค้าจนทำให้ลูกค้าประทับใจได้ ยิ่งพนักงานคนใดสามารถจำชื่อลูกค้าได้ ก็จะทำให้ลูกค้าปลื้มและรู้สึกดีขึ้นไปอีก
  • พนักงานบาริสต้ามีทักษะในการชงเครื่องดื่ม สามารถควบคุมรสชาติและปริมาณได้อย่างแม่นยำ
  • ผู้คิดค้นและพัฒนาสูตรมีความพิถีพิถัน และสามารถสร้างสรรค์เมนูได้ออกมาลงตัวที่สุด
  • ทีมการตลาดมีการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายได้ดีมาก ๆ และยังช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ได้อีกด้วย

Process (กระบวนการ)

  • คัดสรรเมล็ดกาแฟอย่างละเอียด เลือกเก็บเฉพาะผลกาแฟสีแดงที่สุกสมบูรณ์เต็มต้นแล้วเท่านั้น
  • มีกระบวนการแยกผลกาแฟที่พิถีพิถัน โดยแบ่งตามขนาด สี และความหนาแน่น
  • คุณภาพของวัตถุดิบสดใหม่ ผ่านกรรมวิธีที่ได้มาตรฐานและสะอาด
  • มีการทดสอบดินในพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเมล็ดกาแฟ โดยนักปฐพีวิทยา
  • พนักงานมีการทักทายลูกค้าอย่างเป็นมิตร และตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกค้ากำลังพูด
  • พนักงานสามารถตอบคำถามและแนะนำสิ่งที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าได้

Physical Evidence (สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ)

  • ภายในร้านมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นกาแฟหอม ๆ ทั่วทุกมุมร้าน
  • มีการออกแบบร้านสไตล์โมเดิร์น ใช้โทนสีที่สบายตา และมีที่นั่งเพียงพอกับผู้ใช้บริการ
  • แสงสว่างกำลังดี เสียงเพลงไม่ดังจนรบกวนผู้ฟัง และมีการทำความสะอาดอยู่ตลอด
  • ทาง Starbucks มีบริการ Wi-Fi ให้ใช้ฟรี สำหรับผู้ใช้บริการภายในร้าน

ทำความเข้าใจอีกครั้ง 4P กับ 7P ต่างกันอย่างไร?

หากจะพูดถึงความแตกต่างระหว่าง 4P และ 7P ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า 4P คือองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการตลาดที่มุ่งเน้นไปในการทำสินค้าเป็นหลัก โดยนักการตลาดและผู้ประกอบการจะต้องโฟกัสทั้ง 4 องค์ประกอบเพื่อให้รู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของสินค้าที่ต้องการนำออกมาวางขาย เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการตลาด แต่ในยุคนั้นจะเน้นไปที่การขายสินค้าแบบออฟไลน์เป็นหลัก ไม่มีการบริการด้านต่าง ๆ และช่องทางออนไลน์อย่างในปัจจุบันนี้ จึงทำให้มีการพัฒนาจาก 4P Marketing Mix เป็น 7Ps Marketing Mix  เพื่อให้ครอบคลุมธุรกิจที่มีการบริการ และรองรับการขายสินค้าออนไลน์ด้วยนั่นเอง

ดังนั้น ส่วนประสมทางการตลาด 7Ps Marketing Mix จึงมุ่งเน้นองค์ประกอบสำคัญทางการตลาดอย่างรอบด้าน ทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ โดย 7P นับเป็นคอนเซ็ปต์ทางการตลาดที่ครบถ้วน หากสามารถโฟกัสได้ครบทุกองค์ประกอบ ธุรกิจก็จะสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

คลายความสงสัย 4P กับ 7P ต่างกันอย่างไร?

หากจะพูดถึงความแตกต่างระหว่าง 4P และ 7P ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า 4P คือ องค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการตลาดที่มุ่งเน้นไปในการทำสินค้าเป็นหลัก โดยนักการตลาดและผู้ประกอบการจะต้องโฟกัสทั้ง 4 องค์ประกอบเพื่อให้รู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของสินค้าที่ต้องการนำออกมาวางขาย เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการตลาด แต่ในยุคก่อนธุรกิจส่วนใหญ่จะมีการบริการเข้าไปเกี่ยวข้องแทบทั้งนั้น เพราะยังไม่มีช่องทางออนไลน์ต่างๆ เหมือนในปัจจุบัน จึงทำให้มีการพัฒนา 4P เป็น 7P เพื่อให้ครอบคลุมธุรกิจที่มีการบริการด้วยนั่นเอง ดังนั้น 7P จึงมุ่งเน้นองค์ประกอบสำคัญทางการตลาดอย่างรอบด้านทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ 7P นับเป็นคอนเซปทางการตลาดที่ครบถ้วน หากสามารถโฟกัสได้ครบทุกองค์ประกอบ ธุรกิจก็จะสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นนั่นเอง

บทสรุปเรื่องส่วนประสมทางการตลาด 7Ps Marketing Mix 

สรุปอีกครั้งก่อนจะจบบทความนี้ไปได้ความว่า 7Ps Marketing Mix คือส่วนประสมทางการตลาดทั้ง 7 ที่ประกอบไปด้วย Product, Price, Promotion, Place, People, Process และ Physical Evidence เรียกได้ว่า 7P คือกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบหนึ่งที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดไม่ควรมองข้าม เพราะ 7Ps Marketing Mix จะทำให้คุณเข้าใจความต้องการของตลาดเป็นอย่างดี และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ออกมาตอบโจทย์กับผู้บริโภคได้ ด้วยเหตุนี้เราจะบอกว่า  7Ps Marketing Mix คือกุญแจสำคัญในการสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจก็ย่อมได้ เพราะความรู้ใจลูกค้า เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และการทำทุกอย่างให้ออกมามีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ผู้บริโภคติดหนึบกับคุณ อุดหนุนสินค้าและบริการของคุณอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทุก ๆ เดือนนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

Organic Traffic คืออะไร พร้อมวิธีเพิ่ม Traffic บนเว็บไซต์

Web Traffic คือผู้เข้าชมเว็บไซต์ ที่มีความสำคัญมาในการทำให้เว็บไซต์เติบโตและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง Traffic มาได้จากหลายช่องทาง อาทิ Paid, Direct, Social Media, Referral และ Organic Traffic แต่ Traf
50

Breadcrumb Navigation ป้ายนำทางบนเว็บไซต์ ที่ส่งผลดีต่อ SEO

เว็บไซต์ส่วนใหญ่มีหน้าเว็บและข้อมูลเยอะมาก อาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกสับสนและหลงทางได้ การมีตัวช่วยนำทางบนเว็บไซต์หรือ Breadcrumb Navigation ติดตั้งไว้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับ
45

รู้จัก DeepSeek AI เอไอสัญชาติจีนที่กำลังมาแรงในตอนนี้

ต้องบอกว่าในปี 2025 นี้ แพลตฟอร์ม AI เติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังตอบโจทย์การทำงานที่หลากหลายด้านได้อีกด้วย คุณสามารถใช้ AI ในการทำงานแทน อย่างเขียนบทความ สรุปข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ค้นหาข้อมูล เขี
49
th