
การตลาดสายมู (Muketing) กลยุทธ์มัดใจลูกค้าด้วยความเชื่อ
ช่วงนี้เทรนด์การตลาดสายมูหรือ Muketing กำลังมาแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งแบรนด์ใหญ่แบรนด์เล็ก ทั้งสินค้าความงามหรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ต่างก็ทำการตลาดสายมูกันทั้งสิ้น นั่นก็เพราะว่ามันตรงกับวิถีชีวิตของคนไทยตลอดมานั่นเอง ตั้งแต่การหาฤกษ์งามยามดีสำหรับการแต่งงาน คลอดลูก หรือเปิดกิจการ การไหว้พระทำบุญ การสวมเสื้อผ้าตามตารางสีมงคล และอื่น ๆ อีกสารพัดสิ่ง แล้วแบบนี้คนไทยอย่างเราจะหนีการตลาดสายมูยังไงให้พ้น? ในเมื่อ “ความเชื่อ” มันติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ด้วยเหตุนี้การตลาดสายมูจึงเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมและที่สำคัญคือมันประสบความสำเร็จจริง ๆ
การตลาดสายมูคืออะไร?
การตลาดสายมู (Muketing) คือการทำการตลาดที่ผสมผสานศรัทธาและความเชื่อเข้ากับกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างลงตัว เพื่อมัดใจกลุ่มเป้าหมายที่มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อาทิ โชคลาภ ความเป็นสิริมงคล ความเจริญก้าวหน้า การงาน การเงิน ฯลฯ โดยคำว่า “สายมู” ย่อมาจากคำว่า “มูเตลู (Metelu)” แปลว่าความเชื่อ การเสริมดวง การเสริมโชคชะตา การดูไพ่ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การนับถือบรรพบุรุษ ฯลฯ
การตลาดสายมูเติบโตขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2019 ที่ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกคนตื่นตระหนกกับโรคใหม่ที่คืบคลานเข้ามาในชีวิตประจำวัน เพราะมันแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเชื้อก็รุนแรงจนคร่าชีวิตของผู้คนไปมากมาย ต้องอยู่แต่ในที่พักอาศัยเท่านั้น ไม่สามารถออกจากบ้านไปพบปะกับคนอื่นได้ เนื่องจากในตอนนั้นยังไม่มีวิธีการรักษาที่แน่ชัดเท่าไหร่นัก ‘ที่พึ่งทางใจ’ จึงเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ รวมทั้งสถานการณ์ของเหล่าผู้ประกอบการทั้งหลายก็ไม่สู้ดีนัก ใครไหวก็ไปต่อ ส่วนใครไม่ไหวก็ต้องปิดตัวลงไป

ขอบคุณภาพจาก ellecanada
ทำไมการตลาดสายมูถึงประสบความสำเร็จ
ผลจากงานวิจัยเรื่อง Marketing in the Uncertain World กับกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ราย ในช่วงปี 2563 ของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าโควิด-19 เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยกังวลมากที่สุด ซึ่งกังวลจนต้องมองหาตัวช่วยสำคัญเพื่อปลอบประโลมจิตใจ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นมีอยู่ 3 รูปแบบได้แก่
- หันหน้าเข้าหาความเชื่อหรือเดินทางเข้าสู่การเป็นสายมู
- หาเพื่อคุยหรือเสพข่าวสารจากคอมมูนิตี้ออนไลน์
- เชื่อในสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์บอกว่าดี KOL บอกว่าใช่
Insight สายมูจากผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อ “การตลาดสายมู (เตลู) การใช้ความเชื่อความศรัทธามาทำการตลาด” ได้อธิบายว่าจริง ๆ แล้วการตลาดสายมูไม่ได้ทำมาเพื่อศรัทธาและความเชื่อเสมอไป ในบางครั้งแบรนด์ก็ทำการตลาดสายมูเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคจริง ๆ เช่น
- การสวมเสื้อสีที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ตามตารางสีมงคล เพื่อเสริมดวงชะตาด้านต่าง ๆ ในวันนั้น >> เพิ่มความมั่นใจ โดยเฉพาะวันที่ต้องประชุมกับลูกค้า หรือพูดคุยเจรจาธุรกิจ
- การดูดวง เปิดไพ่ทำนายอนาคต อย่างดูดวงความรัก การงานในปีหน้า การเงินในอนาคต ฯลฯ >> เพื่อหาคำตอบในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้
- การพกเครื่องรางของมงคลไว้ติดตัว >> เพื่อให้ตัวเองสบายใจขึ้นและมีกำลังใจในการต่อสู้กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันนั้น
- การใส่กำไลสายมูที่มีตะกรุดด้านต่าง ๆ และร้อยด้วยหินมงคล >> เพื่อเสริมดวงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือการสวมตามเทรนด์แฟชั่นในขณะนั้น

ตัวอย่างการตลาดสายมูจากแบรนด์ต่าง ๆ ในไทย
เราก็มีตัวอย่างของ Muketing ด้านความรักจากแอปพลิเคชันหาคู่ยอดฮิต “Tinder” ผู้จัดจำหน่ายวอลล์เปเปอร์เสริมดวงครบทุกด้านในที่เดียว “HoroWall” และค่ายเครือข่ายโทรศัพท์ชื่อดังอย่าง “True” มาฝากกัน ลองไปดูกันเลยว่าเค้าจะเล่นการตลาดสายมูด้วยกลยุทธ์อะไรบ้าง?
Tinder
Tinder แอปพลิเคชันหาคู่ชื่อดัง ทำการตลาดสายมูร่วมกับ centralwOrld ในช่วงเดือนแห่งความรัก บริเวณลานหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ที่ตั้งของพระตรีมูรติ (เทพเจ้าในศาสนาฮินดูที่ดังเรื่องความรัก) โดยการเนรมิตพื้นที่ดังกล่าวคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายของความรัก พร้อมกับแจกชุดไหว้พระตรีมูรติฟรี 100 ชุด/วัน สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนใช้งานแอปพลิเคชัน Tinder

ขอบคุณภาพจาก Prachachart . net
HoroWall
HoroWall เป็นแบรนด์วอลล์เปเปอร์สายมูที่โด่งดังไปทั่ว Social Media โดยสินค้าที่หลักของ HoroWall คือวอลล์เปเปอร์หน้าจอมือถือเสริมดวง ที่ออกแบบมาให้แต่ละบุคคลโดยเฉพาะ ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกเรื่องที่ต้องการเสริมดวงได้ ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน ความรัก สุขภาพ หรืออื่น ๆ จากนั้นก็ทำการส่งข้อมูลส่วนตัวไปให้ทางแบรนด์จัดทำวอลล์เปเปอร์ที่เหมาะสมกับดวงและเรื่องที่คุณต้องการมาให้ HoroWall ได้ร่วมมือกับอาจารย์ด้านโหราศาสตร์ชื่อดัง และนำความเชื่อทั้ง 4 ศาสตร์มาไว้ในวอลล์เปเปอร์ภาพเดียว ทั้งใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก และพกไปกับตัวได้ทุกที่ จึงทำให้วอลล์เปเปอร์สายมูได้รับความนิยมอย่างมาก
เคสตัวอย่างของการทำการตลาดสายมูของ HoroWall คือการร่วมมือกับ SkinX แอปพลิเคชันแพทย์ผิวหนังออนไลน์ ในการมอบวอลล์เปเปอร์เสริมดวงมูลค่า 199 บาท ให้แก่ลูกค้าใหม่ที่สมัครใช้งานแอปพลิเคชัน นอกจาก SkinX จะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยโปรโมตวอลล์เปเปอร์เสริมดวงของ HoroWall ไปในตัวด้วย

ขอบคุณภาพจาก Facebook Page ‘SkinX พบแพทย์ผิวหนังออนไลน์’
True
True คือหนึ่งในเครือข่ายผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ได้ทำแคมเปญ “เบอร์คู่มงคลคัดพิเศษ” ที่เป็นการนำความเชื่อด้านตัวเลขและเบอร์มงคล มาผสานเข้ากับเบอร์โทรศัพท์มือถือที่เป็นหนึ่งในสินค้าของ True อย่างลงตัว เพราะในประเทศไทยเองมีผู้ที่เชื่อในศาสตร์แห่งตัวเลขไม่น้อยเลย

ขอบคุณภาพจาก Facebook Page ‘True4U’
บทสรุป
การตลาดสายมู หรือ Muketing เป็นการใช้ศาสตร์ (ทางความเชื่อ) และศิลป์ (ความคิด ความครีเอทีฟ) รวมถึงกลยุทธ์การทางตลาดมารวมตัวกัน นอกเหนือจากตัวอย่างการตลาดสายมูที่เราได้เอ่ยถึงในบทความนี้แล้ว ก็มีแคมเปญและสินค้าสายมูอีกมากมายในท้องตลาด อาทิ ลิปมหาเสน่ห์, ฉีดหน้าเสริมโหงวเฮ้ง, พวงกุญแจตามราศี, เสื้อสกรีนลายเทพเจ้า ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการเอาความเชื่อความศรัทธาของกลุ่มเป้าหมายมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ดังนั้น ถึงแม้ว่ามันจะเห็นผลและดูมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง แต่คุณก็จะต้องวางกลยุทธ์ให้ดีและเลือกจับคู่ความเชื่อสินค้าอย่างชาญฉลาด ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะโดนกระแสตีกลับหรือทำให้แบรนด์เสียความน่าเชื่อถือไปได้ในฐานะที่ ANGA เป็น Digital Agency (เอเจนซี่การตลาดออนไลน์) ขอแนะนำให้คุณเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมและความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์คู่แข่ง จากนั้นก็ค่อยวางกลยุทธ์ทางการตลาดสายมูว่าจะใช้วิธีใดในการทำให้กลุ่มเป้าหมายกลายมาเป็นลูกค้าของคุณ พร้อมกับติดตามผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เจอเทคนิคและวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจของคุณ โดยวิธีที่เราอยากแนะนำคงไม่พ้นการยิงโฆษณา Facebook Ads ให้แบรนด์ของคุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ, การทำ Influencer Marketing มัดใจกลุ่มเป้าหมายด้วยอินฟลูเอนเซอร์ และการทำเว็บไซต์ควบคู่ไปกับการทำ SEO เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่แบรนด์ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง

Organic Traffic คืออะไร พร้อมวิธีเพิ่ม Traffic บนเว็บไซต์
