Google Trends คืออะไร? พร้อมวิธีใช้หา Insight 2024
ในยุคที่โลกออนไลน์เต็มไปด้วยข้อมูลมากมายและประเด็นที่น่าสนใจหลากหลายเรื่อง ทำให้ความสนใจของผู้คนเปลี่ยนไปในพริบตา บางเทรนด์อาจจะมาไวไปไวอยู่ในกระแสเพียงไม่กี่วัน แต่บางเทรนด์อาจถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างต่อเนื่อง แล้วคุณจะรู้ Insights เหล่านี้ได้อย่างไร? การใช้เครื่องมือฟรีอย่าง Google Trends คือคำตอบ เพราะ Google Trends คือเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยคุณจับทุกประเด็นฮอต รู้ทุกประเด็นคนจับตามอง ในช่วงเวลานั้น ๆ แบบเรียลไทม์
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม Google Trends ถึงเป็นเครื่องมือยอดนิยมสำหรับนักการตลาด ถ้าคุณอยากทราบว่า Google เทรนด์ สามารถทำอะไรได้บ้าง, กูเกิ้ลเทรนด์มีประโยชน์กับการทำการตลาดออนไลน์และ SEO มากน้อยแค่ไหน และวิธีใช้ Google Trends หา Insight ต้องทำอย่างไร ANGA (แองก้า) จะมาคลายทุกข้อสงสัยให้คุณทราบกันผ่านบทความนี้เลย (อัปเดตข้อมูลใหม่ล่าสุด 2024)
Google Trends คืออะไร เหตุใดนักการตลาดต้องรู้จัก?
ความหมายของ Google Trends คือ เครื่องมือจาก Search Engine ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Google’ ที่ช่วยผู้ใช้งานค้นหาความสนใจของผู้คน ณ ช่วงเวลาหนึ่งในแต่ละพื้นที่ ทั้งในระดับจังหวัด ประเทศ และระดับโลกผ่านการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด (Keyword) จากนั้นระบบหรืออัลกอริทึมของ Google Trends ก็จะแสดงข้อมูลและกระแสเกี่ยวกับคีย์เวิร์ดดังกล่าวออกมาให้ผู้ใช้งานเห็นภายในเสี้ยววินาที
และที่สุดยอดไปกว่านั้นคือคุณสามารถใช้ Google Trends ในการเช็กเทรนด์ฮิตประจำวัน, ดู Insights หรือข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการค้นหาของผู้คน, ตรวจสอบเรื่องที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา, เปรียบเทียบความนิยมของคีย์เวิร์ดในช่วงเวลาต่าง ๆ , ดูข้อมูลและคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง (Related Quiries) และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อได้อีกด้วย
ในปี 2024 นี้ Google Trends หรือ Google Search Trends เป็นเครื่องมือที่เหล่าเอเจนซี่รับทำ SEO (Search Engine Optimization) และเอเจนซี่รับทำการตลาดออนไลน์ใช้กันทุกเจ้า เพราะมีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพสูง และยังช่วยให้ได้ Insights จริงมาใช้งานด้วย ดังนั้น จึงทำให้เอเจนซี่และนักการตลาดหลาย ๆ คน สามารถข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาด หรือกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้แก่ธุรกิจได้แม่นยำมากขึ้นนั่นเอง ใครที่ไม่เคยลองใช้กูเกิ้ลเทรนด์บอกเลยว่าพลาดมาก ต้องรีบไปลองใช้ด่วน ๆ เลย
10 วิธีใช้ Google Trends หา Insights ฉบับมืออาชีพ
หลังจากที่ได้ทราบกันไปแล้วว่า Google Trends คืออะไร ต่อมาเรามาเจาะลึกวิธีใช้ Google Trends ฉบับมืออาชีพ เพื่อกระตุ้นยอดขาย เปิดการมองเห็น ปั้นธุรกิจให้โต และทำคอนเทนต์ให้โดนใจลูกค้ากันดีกว่า และต้องขอบอกก่อนว่าคุณสามารถใช้งาน Google Trends ได้แบบฟรี ๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แค่สมัครบัญชีของ Google ก็พอแล้ว ซึ่งเราก็คิดว่าใคร ๆ ก็มีบัญชี Google หรือ Gmail กันหมดแล้วอย่างแน่นอน และ 10 วิธีใช้ Google Trends จะมีอะไรกันบ้างนั้น หยิบปากกามาเตรียมจดลงสมุด แล้วไปลุยกัน!
1. ใช้ส่องเทรนด์ฮิตติดกระแสและการค้นหาที่มาแรงแบบเรียลไทม์
สำหรับใครที่ยังไม่มีไอเดียในการทำคอนเทนต์ แต่อยากตามติดกระแสที่กำลังฮิตของวันนี้ เพื่อเรียกยอด Engagement รัว ๆ ก็สามารถใช้ Google Trends ช่วยได้เลย โดยวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการเข้าไปยังเว็บไซต์ https://trends.google.co.th และทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย
- กดคำว่า ‘Trending Now’ ตรงแถบเมนูด้านบน
- กด Realtime search trends เพื่อดูเทรนด์แบบเรียลไทม์
- กด Daily search trends เพื่อดูเทรนด์ที่เกิดขึ้นวันนี้บนโลกออนไลน์
โดยเทรนด์บนจะปรากฏขึ้นเป็นคีย์เวิร์ด เช่น ลาบูบู้, ลงทะเบียนซิม, Super Junior, รายการโหนกระแสหนุ่มกรรชัย ฯลฯ เมื่อคุณเห็นเทรนด์ที่น่าสนใจและเหมาะสมกับภาพลักษณ์ของแบรนด์แล้ว ก็สามารถนำเทรนด์หรือคีย์เวิร์ดดังกล่าวไปสร้างคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องได้ ก็จะช่วยเพิ่ม Traffic และ Engagement ได้ดีมาก ๆ เหมาะกับการเจาะตลาด Social Media สุด ๆ
2. หัวข้อที่เกี่ยวข้องและคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง (Related Topic & Query)
ฟีเจอร์ของ Google Trends ต่อมาจะช่วยให้คุณหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องใหม่ ๆ ได้อย่างน่าสนใจและละเอียดขึ้น นั่นก็คือ Related Topics และ Related Queries เช่น กำหนดคีย์เวิร์ดที่โฟกัสเป็น ‘NFT’ กดค้นหาจะพบหัวข้อที่สามารถนำมาสร้างคอนเทนต์แยกย่อยได้ แถมทราบว่ากลุ่มลูกค้าสนใจอะไรเพิ่มเติมนอกจากตัวผลิตภัณฑ์
สำหรับคำศัพท์ ‘Breakout’ ที่พบข้าง ๆ คีย์เวิร์ด หมายถึง มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสืบค้นคำนี้เพิ่มขึ้นถึง 5000% จากช่วงก่อนหน้านั่นเอง ซึ่งจุดนี้เองที่เอเจนซี่รับทำ SEO ทั้งหลายหยิบ Related Keywords, Primary & Secondary Keywords ไปใช้กัน
3. ไทม์แมชชีนพาย้อนมองแนวโน้มความสนใจ
ทีเด็ดของ Google Trends ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะฟีเจอร์ต่อมาจะพาคุณ ‘ย้อนเวลา’ เช็ก Insights ของผู้บริโภคพร้อมกับวัดทิศทางลมว่าสินค้าหรือบริการนั้นจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง วิธีใช้งานก็ง่ายดาย เมื่อกดค้นหาคีย์เวิร์ดจะมีแถบ Past Hour ปรากฏด้านล่างคีย์เวิร์ดให้คุณเลือกช่วงเวลาได้ตามต้องการ โดยย้อนได้เกือบ 20 ปีเลยทีเดียว หากพบว่าสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในสปอตไลต์อีกต่อไปอาจจะพับเก็บไว้ก่อน
4. เปรียบเทียบสิ่งที่ผู้คนสนใจ อันไหนมีโอกาสเกิดกว่า?
สำหรับการเปรียบเทียบคีย์เวิร์ดมีวิธีการ คือ กดค้นหาคีย์เวิร์ดของเราจากนั้น + Compare และใส่อีกหนึ่งคีย์เวิร์ดหรือ + หลาย ๆ คำได้ในคราวเดียวกันเพื่อเช็กแนวโน้มว่าสิ่งใดดีที่สุด ผู้คนยังให้ความสนใจกันเยอะหรือมีแนวโน้มขาขึ้น แถมยังดูความนิยมของคู่แข่งได้อีกด้วย
5. ปักหมุดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เพื่อวางแผนการตลาดได้
อีกหนึ่งความน่าสนใจของเครื่องมือนี้ คือ สามารถตรวจสอบได้ว่าจังหวัดใดให้ความสนใจสินค้าหรือบริการนั้นมากที่สุด ดังนั้นแบรนด์จึงสามารถระบุ Target Audience ได้ลึกขึ้นก่อนจะใช้บริการบริษัทรับทำ Google Ads เน้นยอดลูกค้าเจาะจงในจังหวัดนั้น ๆ เช่น คุณต้องการขาย รองเท้าผ้าใบ จังหวัดที่มีความสนใจสูงสุด คือ อุตรดิตถ์ ในช่วงเวลานี้
6. คีย์เวิร์ดตามเทศกาลและฤดูกาล
เป็นธรรมชาติของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าหรือบริการในแต่ละฤดูกาลหรือเทศกาลแตกต่างกันไป ดังนั้นฟีเจอร์ในข้อ 3. จึงสามารถนำมาปรับใช้ในการวางแผนคอนเทนต์ ลงล่วงหน้าก่อน Peak Season จะมาถึงสัก 1 – 2 เดือน เช่น ที่พักเกาะกูด ช่วงที่ได้รับความสนใจที่สุดคือหน้าร้อนเดือน มี.ค. – เม.ย.
7. ชุบชีวิตคอนเทนต์เก่า
สำหรับคอนเทนต์เก่าที่เคยเผยแพร่ไปสามารถนำมาปัดฝุ่นใส่คีย์เวิร์ดที่มาแรงแทนคีย์เวิร์ดเดิมที่ตกเทรนด์ไปแล้วได้ ควรมีการเช็กว่าคำสำคัญใกล้เคียงใดกำลังมาแรงหรือแซงไปแล้วหรือไม่ เพื่อให้คุณติดอันดับ SEO แบบไม่มีร่วง
8. แพลตฟอร์มค้นหาไม่จำกัดแค่ Google
นอกจากเครื่องมือ ‘Web Search’ แล้วคุณยังสามารถเปลี่ยนไปเป็น YouTube Search, Image Search, News Search หรือ Google Shopping ได้ ดังนั้น Google Trends จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับการทำ SEO บนแพลตฟอร์มหรือรูปแบบอื่น ๆ หรือแบรนด์ใครอยากจะร่วมมือกับยูทูบเบอร์ก็สามารถทำรีเสิร์ชความนิยมของช่องในช่วงนั้นได้ก่อน
9.เทรนด์ใดกำลังมาแรงและมาแรงมากที่สุด
Rising Trend vs. Top Trends คุณสามารถเลือกฟิลเตอร์ค้นหาคำที่เกี่ยวข้องได้ทั้งสองแบบ โดยแบบแรกคือเทรนด์ที่มาแรงในขณะนี้ ส่วนแบบที่สองคือคำที่ได้รับความนิยมสูงสุด อาจจะกดดูทั้งสองแบบเพื่อหาไอเดียที่เหมาะสมก่อน ซึ่งถ้าหากเป็นเรื่องฮิตติดเทรนด์สด ๆ ใหม่ ๆ มีโอกาสที่คอนเทนต์ของคุณจะได้เป็นแหล่งอ้างอิงแบบ ดึง Traffic ออร์แกนิคซึ่งส่งผลดีไม่แพ้การจ้างบริษัทรับทำ Backlink เลย
10. การค้นหาคีย์เวิร์ดแบบเจาะลึกด้วย ‘Category’
เคล็ดลับข้อสุดท้ายที่เราอยากแนะนำ คือ การกำหนดหมวดหมู่ของคำค้นหา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น และแก้ปัญหาเรื่องคำพ้องรูป เช่น ปักเป้า ที่หมายถึง ปลา และชนิดของว่าว สามารถระบุ Category เป็น Hobbies & Leisure หรือ Pets & Animals ได้ อย่างไรก็ตามในบางคีย์เวิร์ด เครื่องมืออาจมีปัญหากับภาษาไทย ซึ่งอาจขึ้นปนกันดังนั้นต้องเช็กให้ดีก่อน
ตัวอย่างการใช้ Google Trends วิเคราะห์เทรนด์
ถ้าคุณติดตามข่าวสารด้านการตลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเทรนด์ AI กำลังมาแรง และพุ่งทยานความฮอตขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีการแข่งขันของ AI หลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น Gemini (Bard), ChatGPT, Claude.ai, LaMDA และอื่น ๆ อีกมากมาย มาย้อนกลับไปดูเทรนด์ AI ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคมของปี 2023 และ 2024 กัน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และผู้คนสนใจ AI ในด้านใดเป็นพิเศษ
ผลการวิเคราะห์เทรนด์ AI ในปี 2023 ด้วย Google Trends
หากย้อนกลับไปในตอนต้นปี 2023 คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักเลยว่า AI คืออะไร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ แต่ก็มีข่าวคราวมาว่าเราสามารถใช้ AI มาตอบแชตและสร้างรูปให้กับเราได้ โดยบริษัท AI ที่มีชื่อเสียงในตอนนั้นคือ Open AI เจ้าของแชตบอต ChatGPT นั่นเอง จึงทำให้เทรนด์การค้นหาเกี่ยวกับ AI ในช่วงนั้นเป็นการค้นหาความหมายของ AI, อยากรู้ว่า Character AI คืออะไร, รูปที่ AI สร้างเป็นอย่างไร, Open AI คือใคร และทดลองใช้งาน ChatGPT ด้วยตัวเอง
ผลการวิเคราะห์เทรนด์ AI ในปี 2024 ด้วย Google Trends
ตั้งแต่ปี 2023 มาจนปี 2024 มี AI เปิดตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Bard, LaMDA, Jurassic-1 Jumbo, WuDao 2.0, Wenwu 2.0, GPT-4, Megatron-Turing NLG, Cogito, Bloom, Xiaodong ฯลฯ ที่มาพร้อมกับความสามารถที่เหนือชั้นยิ่งกว่าการเป็นแชตบอตทั่ว ๆ ไป เพราะคุณสามารถใช้ AI ในการสร้างภาพ, เขียนบทความ, หาข้อมูล, แปลภาษา, เขียนโค้ด, แต่งเพลง หรือเขียนอีเมลได้ (ขึ้นอยู่กับแต่ละโมเดล) ซึ่งมันช่วยลดระยะเวลาในการทำงานได้ดีมาก แถมรูปที่ได้ส่วนใหญ่ก็เนียนซะจนเหมือนภาพถ่ายจริง ๆ ด้วย
เพราะเหตุนี้ เราจึงจะเห็นได้ว่าเทรนด์ AI ในช่วงต้นปี-กลางปี 2024 คนจะนิยมค้นหาเรื่องการสร้างรูปภาพด้วย AI และโมเดลที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ “Bard” และ “Gemini” ที่พัฒนาโดย Google โดย AI ทั้งสองคือตัวเดียวกัน แต่มีการเปลี่ยนชื่อจาก Bard เป็น Gemini เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 ซึ่งบางคนอาจจะคุ้นเคยกับชื่อเดิมมากกว่า ทำให้ผู้คนค้นหา Bard มากกว่า Gemini นั่นเอง
สรุปเทรนด์ AI ปี 2023 และ 2024 โดย Google Trends
ปี 2023 เป็นปีที่ผู้คนเริ่มรู้จัก AI และใช้ AI ในการตอบแชตเป็นหลัก รองลงมาคือการสร้างสรรค์รูปภาพ แต่ความสามารถของ AI ยังเป็นระดับเบื้องต้นอยู่ มีข้อจำกัดเยอะ และมีข้อผิดพลาดมากมาย อย่างการที่ ChatGPT ขโมยข้อมูลบนเว็บไซต์ จนเว็บใหญ่กว่า 26% ต้องบล็อกไปในช่วงเดือนสิงหาคมของปี 2023 เป็นต้น
ต่อมานักพัฒนาก็ได้ปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับพัฒนาความสามารถของ AI ให้โดดเด่นขึ้น เช่น สร้างภาพให้เสมือนจริงมากขึ้น, ใช้ภาษาที่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น, หาข้อมูลได้ละเอียดยิ่งขึ้น ฯลฯ และยังมีการเปิดตัวโมเดลใหม่ ๆ มาเพิ่มอีกด้วย
ปี 2024 จึงเป็นตัวที่คนรู้จักและเคยใช้งาน AI กันมาแล้ว มุ่งมองหา AI ที่ตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองเป็นหลัก อย่าง AI ที่ช่วยสร้างรูปภาพได้ เพื่อนำไปใช้ยิงแอดหรือทำการตลาดออนไลน์ต่อ หรือการใช้ Gemini ช่วยค้นหาข้อมูลและเขียนคอนเทนต์แทน เป็นต้น
แนะนำบทความน่าสนใจ : แจกวิธีใช้ ChatGPT สร้างรูปภาพ
สรุปบทความเรื่อง Google Trends และวิธีใช้งาน 2024
จบไปแล้วกับบทความที่นักการตลาดไม่ควรพลาดอย่าง “Google Trends คืออะไร? พร้อมวิธีใช้ Google Trends หา Insight 2024” คราวนี้ทุกท่านก็ทราบความหมายและเทคนิคการใช้งานเครื่องมือที่ทั้งดีและไม่มีค่าใช้จ่ายกันอย่างครบถ้วนแล้ว ซึ่งพวกเราแองก้าเชื่อว่าทุกท่านสามารถนำกูเกิ้ลเทรนด์ไปประยุกต์ใช้ให้ธุรกิจเติบโตและไม่ตกเทรนด์ได้อย่างแน่นอน!