SWOT Analysis คืออะไร? สำคัญอย่างไรต่อการทำธุรกิจ
การทำธุรกิจไม่ว่าธุรกิจเล็ก กลาง หรือใหญ่ จะมีเครื่องมือชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “SWOT” ซึ่งนิยมใช้ในวงการธุรกิจมาอย่างยาวนาน โดยหลายคนอาจจะรู้จักและเคยใช้มาบ้างแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีนักธุรกิจมือใหม่อีกหลายคนเช่นกันที่ไม่คุ้นเคยกับ SWOT มาก่อน จึงทำให้ไม่ทราบว่า SWOT คืออะไร SWOT แปลว่าอะไร หรือ SWOT Analysis คืออะไร ตัวอย่างเคสเป็นอย่างไร
โดยในบทความนี้ แองก้าจะพาคุณไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว SWOT Analysis คืออะไรกันแน่ SWOT Analysis ย่อมาจากอะไร Situation Analysis คืออะไร พร้อมกับแนบตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ และองค์กรให้คุณได้เห็นภาพและเข้าใจง่ายมากขึ้น
SWOT คืออะไร? ย่อมาจากอะไร?
SWOT คือเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจ โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ประการ ได้แก่จุดแข็ง, จุดอ่อน, โอกาส และอุปสรรค เพื่อใช้ในการประเมินสถานการณ์ของธุรกิจและพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน จากการเสริมจุดแข็งและปิดจุดอ่อนภายในที่ส่งผลเสียต่อการเติบโตของบริษัท รวมทั้งช่วยให้มองเห็นโอกาส และอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย
ดังนั้น จึงทำให้ SWOT Analysis คือตัวช่วยที่สำคัญที่ทุกธุรกิจไม่ควรมองข้าม ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะก้าวตามคู่แข่งไม่ทัน ไม่รู้ว่าควรจะงัดจุดแข็งอะไรออกมาใช้ ไม่รู้ว่าควรแก้ไขจุดอ่อนอย่างไร มองไม่เห็นโอกาสที่เข้ามา และพบเจอกับอุปสรรคมากมายก็เป็นได้
SWOT มาจากปัจจัย 4 ประการ
SWOT Analysis ย่อมาจากอะไร? SWOT Analysis ประกอบด้วยอะไรบ้าง? คำตอบคือ SWOT Analysis ย่อมาจากปัจจัยทั้ง 4 ประการที่นำมาวิเคราะห์ธุรกิจ ดังนี้
- S ย่อมาจาก Strength หมายถึง จุดแข็ง
- W ย่อมาจาก Weakness หมายถึง จุดอ่อน
- O ย่อมาจาก Opportunities หมายถึง โอกาส
- T ย่อมาจาก Threats หมายถึง อุปสรรค
SWOT มีอะไรบ้าง?
การวิเคราะห์ SWOT แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือการวิเคราะห์ปัจจัยภายในองค์กร ได้แก่ จุดแข็งและจุดอ่อน และการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก ได้แก่ โอกาสและอุปสรรค
จุดแข็ง (Strength)
S แรกของ SWOT Analysis ย่อมาจาก Strength คือความสามารถหรือสิ่งที่ทำได้ดี ซึ่งส่งเสริมให้บริษัทโดดเด่นและได้เปรียบคู่แข่ง โดยสามารถวิเคราะห์จากสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการ การทำงานของทีมงาน การตลาด ซึ่งสามารถนำมาใช้แข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ ได้
แนวทางการตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์จุดแข็ง
- ข้อได้เปรียบของธุรกิจเรามีอะไรบ้าง
- สินค้าและบริการมีความโดดเด่นหรือแตกต่างกว่าคู่แข่งอย่างไร
- บริษัทของเรามีทรัพยากรอะไรบ้างที่เหนือกว่า เช่น ทักษะความเชี่ยวชาญของคนในทีม อุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ความกว้างขวางหรือมีชื่อเสียงในแวดวงสังคม เป็นต้น
จุดอ่อน (Weakness)
W ตัวที่สองใน SWOT Analysis ย่อมาจาก Weakness คือข้อด้อยที่ทำให้ธุรกิจของเราเสียเปรียบคู่แข่งในการแข่งขัน โดยวิเคราะห์จากภายในองค์กรว่ามีความบกพร่อง ข้อจำกัด หรือความไม่พร้อมในด้านใดบ้าง ซึ่งพิจารณาจากด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับจุดแข็งไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการ ทรัพยากรบุคลากร การบริหาร การตลาด เป็นต้น กล่าวคือจุดอ่อนเป็นสิ่งที่ทำให้เราแพ้คู่แข่ง และเป็นด้านตรงข้ามของจุดแข็งที่ทำให้เราชนะคู่แข่งนั่นเอง
แนวทางการตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน
- องค์กรมีช่องว่างอะไรบ้าง เช่น บุคลากรหรืออุปกรณ์ขาดแคลน การขาดแคลนเงินทุน
- ข้อด้อยของสินค้าและบริการมีอะไรบ้าง เช่น สินค้าไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
- การทำงานของคนในทีมมีปัญหาอะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อคุณภาพของงาน
โอกาส (Opportunities)
O หรือ Opportunity SWOT คือโอกาสหรือสถานการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้นเองแล้วส่งผลดี เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานขององค์กร ช่วยส่งเสริมให้องค์กรสามารถสร้างรายได้หรือทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ โดยจะวิเคราะห์โอกาสจากปัจจัยภายนอก เช่น เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี เป็นต้น สิ่งสำคัญคือต้องแสวงหาโอกาสโดยการติดตามความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอกอยู่เสมอ
แนวทางการตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์โอกาส
- การเปลี่ยนแปลงภายนอกใดบ้างที่สร้างโอกาสที่ดีให้กับองค์กร เช่น นโยบายจากรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือเทรนด์ใหม่ ๆ ที่ทำให้เราสามารถจับตลาดได้
- พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
- ความต้องการของสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้นหรือไม่
อุปสรรค (Threats)
T ตัวสุดท้ายใน SWOT คือ Threats หมายถึงอุปสรรค หรือสถานการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบเชิงลบต่อองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานของคนในองค์กร เช่น สถานการณ์ Covid-19 มาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้การบริโภคสินค้านอกบ้านของผู้บริโภคลดลง โดยการวิเคราะห์อุปสรรคจะวิเคราะห์จากปัจจัยภายนอกด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับโอกาส เช่น เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี เป็นต้น
แนวทางการตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์อุปสรรค
- พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดผลลบหรือไม่
- ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลต่อการทำงานหรือไม่
- ในตลาดมีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน
SWOT มีประโยชน์อย่างไรต่อการทำธุรกิจและการทำการตลาด
การทำ SWOT Analysis สำคัญต่อธุรกิจทุกรูปแบบ เพราะทำให้คุณได้ทบทวนธุรกิจอีกครั้งและมองเห็นปัจจัยทั้ง 4 ด้านชัดเจนขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
1. ทำให้ได้ตระหนักและเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของธุรกิจทั้งภายในและภายนอก
2. มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนชัดขึ้น ทำให้สามารถหาวิธีส่งเสริมจุดแข็ง และวิธีป้องกันหรือกำจัดจุดอ่อนได้
3. ใช้โอกาสสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจ
4. ค้นหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในตลาด เพื่อหาแนวทางหลีกเลี่ยงได้
5. พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสม เช่น สร้างโปรโมชันการขายผ่านเดลิเวอรี่เพราะพบว่าภาวะโรคระบาดทำให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมมาบริโภคออนไลน์มากกว่าการไปหน้าร้าน เป็นต้น
ข้อจำกัดของ SWOT Analysis
ได้เห็นประโยชน์ของการทำ SWOT Analysis ไปแล้ว มาดูกันว่า SWOT มีข้อจำกัดอะไรบ้าง
- ไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาว่าปัญหาใดมีความสำคัญมากที่สุด ทำให้ไม่รู้ว่าต้องแก้ปัญหาใดก่อน
- ทำให้มองเห็นปัญหา แต่ไม่ได้บอกแนวทางในการแก้ปัญหานั้น ๆ
- ทำให้ได้ข้อมูลจำนวนมาก มองเห็นไอเดียเยอะขึ้น แต่ไม่รู้ว่าอันไหนดีที่สุด
- ไม่สามารถให้ผลลัพธ์ที่ครอบคลุมระยะเวลายาวนานได้ ต้องทำการวิเคราะห์เป็นระยะ เพราะปัจจัยต่าง ๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ธุรกิจอาหารคลีน
อยากเข้าใจเรื่อง SWOT แบบเคลียร์ ๆ ก็ต้องเห็นตัวอย่างให้ชัดเจน! ด้วยเหตุนี้ เราจึงนำตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ธุรกิจ, ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ผลิตภัณฑ์ และตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT องค์กร ของธุรกิจอาหารคลีนจากประเทศญี่ปุ่นมาฝากกัน
Strengths
- มีประสบการณ์ด้านอาหารคลีนมากว่า 20 ปี และมีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น
- กรรมวิธีการปรุงอาหารของร้านได้มาตรฐาน ถูกหลักอนามัย
- มีตัวเลือกเมนูที่ทำจากวัตถุดิบหลากหลาย ไม่ใช่เพียงอกไก่เท่านั้น
- มีการยิงแอดเพื่อโปรโมตร้านอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยิงแอด Facebook ยิงแอด Google
- ทำเลของร้านใกล้อาคารสำนักงานต่าง ๆ
Weaknesses
- ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย
- พึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีต้นทุนสูง
- มีราคาสูงกว่าอาหารอื่น ๆ ตามท้องตลาด
Opportunities
- กระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงในหมู่ผู้บริโภค
- ผู้บริโภคนิยมซื้ออาหารปรุงสำเร็จมากกว่าทำอาหารเอง
- ช่องทางการขายในปัจจุบันช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น เช่น ช่องทางขายสินค้าออนไลน์
Threats
- ภาพลักษณ์อาหารคลีนในสายตาของผู้บริโภค คือ จืดชืด ไม่อร่อย
- บริเวณที่ตั้งของร้านมีอาหารอื่น ๆ ที่ราคาถูกกว่า
สรุปเคส SWOT ตัวอย่างธุรกิจอาหารคลีนจากประเทศญี่ปุ่นที่เรายกมาให้ชมได้ว่าบริษัทนี้เด่นเรื่องรสชาติและคุณภาพของอาหาร บอกได้เลยว่าไม่เป็นรองใคร แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเท่าไหร่นัก จึงสู้แบรนด์ดังในไทยไม่ได้ ถึงแม้ว่ากระแสเรื่องอาหารคลีนกำลังมาแรง แต่ก็ต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนความคิดจาก ‘อาหารคลีนไม่อร่อย จืด ฝืดคอ’ เป็น ‘รสชาติอร่อยเท่าอาหารทั่วไป แต่มีประโยชน์กว่ามาก’ ให้ได้
ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ธุรกิจของบริษัท Apple
Apple บริษัทด้านเทคโนโลยีสุดยิ่งใหญ่ของโลก ผู้นำด้านเทคโนโลยีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่าง iPhone, iPad, iPod, Macbook, Mac, Apple Watch ฯลฯ มาดูกันว่าผลการวิเคราะห์ SWOT ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple จะเป็นอย่างไร Apple มีจุดอ่อนหรืออุปสรรคเหมือนบริษัทเล็ก ๆ หรือไม่
Strengths
- แบรนด์ดิ้งของ Apple มีความแข็งแกร่งมาก เพราะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
- Apple มีฐานลูกค้าที่กว้างขวาง (มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก)
- ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อแบรนด์มาก ไม่เปลี่ยนใจไปใช้แบรนด์อื่นง่าย ๆ
- เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความล้ำสมัย อย่างการมีระบบปฏิบัติการเป็นของตัวเอง
- การออกแบบผลิตภัณฑ์มีความเรียบหรู สวยงาม ดูสมาร์ท ทันสมัย ใช้ง่าย และเหมาะกับทุกเพศทุกวัย
Weaknesses
- ผลิตภัณฑ์ของ Apple มีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ในตลาด
- ลูกค้าจะต้องซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ของ Apple ผ่านศูนย์ที่ได้รับการอนุญาตจากทางแบรนด์เท่านั้น และมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมค่อนข้างสูง
- Apple มีคู่แข่งในตลาด Smartphone จำนวนมาก
- สัดส่วนรายได้ของ Apple กว่า 50% มาจากการขาย iPhone นั่นหมายความว่าถ้ายอดขาย iPhone ลดลง บริษัทอาจได้รับผลกระทบมหาศาลก็ได้
Opportunities
- การเข้ามาของเทคโนโลยี AI เป็นโอกาสอันดีในการนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีความล้ำสมัยและตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่มากขึ้น
- Apple สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์สำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ อย่างเด็ก, ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุได้
- ผู้บริโภคในบางประเทศ เช่น จีน อินเดีย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายได้และกำลังซื้อที่มากขึ้น Apple สามารถใช้โอกาสนี้ในการขยายตลาดใหม่ โดยการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ และรองรับภาษาท้องถิ่นของพวกเขาได้
- เทรนด์การซื้อสินค้าออกใหม่กำลังมาแรงอย่างต่อเนื่อง Apple สามารถคว้าโอกาสในการกระตุ้นยอดขายจากการออกสินค้าใหม่ ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น Apple Car, แว่นตา AR/VR หรืออื่น ๆ ก็ตาม
Threats
- คู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันมีการใช้เทคโนโลยีกับฟีเจอร์ที่เทียบเท่าและเหนือกว่า
- มีการลักลอบติดตั้งโปรแกรมใน Apple Store โดยที่ไม่ต้องชำระค่าบริการได้
- ระบบยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง เช่น การปลดล็อกหน้าจอ iPhone โดยที่ไม่ต้องสแกนหน้าหรือกดรหัสผ่าน
- อุปกรณ์หรือวัสดุที่ใช้ในการผลิตสินค้าของ Apple มักจะทำขึ้นที่ประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ หากเกิดปัญหาที่ประเทศจีน อาจทำให้การผลิตและจัดส่งสินค้าของ Apple หยุดชะงักได้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการขาดรายได้สูง
สรุปตัวอย่างการวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัท Apple พบว่าไม่ต้องห่วงเรื่องแบรนด์ดิ้งเลย เพราะใคร ๆ ก็รู้จัก แถมยังมีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก ออกผลิตภัณฑ์อะไรมาก็ขายได้แน่นอน แต่คู่แข่งในอุตสาหกรรมก็มีเยอะ ซึ่งถ้าพูดถึงฟีเจอร์การใช้งานแล้ว บางฟีเจอร์ทางคู่แข่งอาจทำมาก่อนแล้วหรือทำได้ดีกว่า และ Apple ก็ไม่สามารถขาดประเทศจีนไปได้ ซึ่งถ้าจีนมีปัญหา ก็แปลว่า Apple จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ Apple ก็สามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขาย และขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้
ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ธุรกิจของบริษัท Microsoft
Microsoft บริษัทด้านซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทุกโลก จากผลิตภัณฑ์ที่ใคร ๆ ก็รู้จักอย่างระบบปฏิบัติการ Windows, โปรแกรม Microsoft Office, เบราว์เซอร์ Internet Explorer และโปรแกรมเล่นสื่อ Windows Media Player บริษัท Microsoft ก่อตั้งถึงมาตั้งแต่ปี 1975 ซึ่งในปัจจุบันนี้สถานการณ์ของ Microsoft จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามการวิเคราะห์ SWOT ของ Microsoft จากที่นี่ได้เลย
Strengths
- คนทั่วโลกจำนวนมากรู้จักและเคยใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Microsoft
- Microsoft มีชื่อเสียงด้านการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ
- ฐานลูกค้ากว้างขวาง มีทั้งลูกค้าที่เป็นรายบุคคลและองค์กร
- มีชื่อเสียงที่ดีในด้านของการเป็นบริษัทที่มีนโยบายสิ่งแวดล้อม
- โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ของ Microsoft มีความปลอดภัย ใช้งานง่าย และมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย
Weaknesses
- การแข่งขันด้านเทคโนโลยีรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง Apple, Google และ Amazon
- รายได้หลักของ Microsoft มาจากระบบปฏิบัติการ Windows ถ้ามีผู้ใช้งานน้อยลง รายได้ของบริษัทก็จะลดลงด้วย
- ซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์บางอย่างของ Microsoft มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม
- Microsoft โดนละเมิดลิขสิทธิ์บ่อยครั้ง และมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย
Opportunities
- ตลาดคลาวด์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง Microsoft Azure บริการคลาวด์ของ Microsoft ก็สามารถขยายตลาดและฐานลูกค้าจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ เช่น บริการคลาวด์ที่มีความปลอดภัยสูง สำหรับอุตสาหกรรมที่ให้บริการทางการเงิน หรือบริการ AI และ Machine Learning ให้กับองค์กรที่ต้องการเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น
- การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ
- การทำการตลาดออนไลน์ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาใช้งาน Microsoft มากขึ้น
Threats
- ตลาดเทคโนโลยีมีการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ Microsoft ต้องเผชิญหน้ากับบริษัทเจ้าใหญ่อย่าง Apple, Amazon, Google และ Facebook โดยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
- อุตสาหกรรมนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หาก Microsoft ไม่สามารถรับมือจากการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้ ก็อาจทำให้บริษัทต้องเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปอย่างน่าเสียดาย
- กฎระเบียบใหม่ ๆ อย่างนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล อาจทำให้เกิดอุปสรรคในการจัดเก็บข้อมูล ที่ต้องเอามาใช้พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด การบริการ หรือผลิตภัณฑ์ได้
สรุปว่า Microsoft เป็นบริษัทที่มีจุดแข็งมากมาย ทั้งในด้านของชื่อเสียง, ผลิตภัณฑ์, บริการ และทีมวิศวกรที่มากประสบการณ์ แต่ก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งไม่แพ้กัน ดังนั้น Microsoft ควรปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น และหันมาทำการตลาดออนไลน์ พร้อมกับลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและสร้างฐานลูกค้าในตลาดใหม่ให้มากขึ้น
ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ธุรกิจไทย “ศรีจันทร์”
ศรีจันทร์เป็นบริษัทไทยที่ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2491 เรียกได้ว่าอยู่คู่คนไทยมานานหลายสิบปีเลยทีเดียว ทำไมศรีจันทร์ถึงเป็นแบรนด์ที่อยู่มาได้นานถึงขนาดนี้ เรามาลองวิเคราะห์ SWOT Analysis ของศรีจันทร์กัน
Strengths
- แบรนด์ศรีจันทร์มีชื่อเสียงมากในประเทศไทย ได้รับความนิยมมานาน
- ฐานลูกค้ากว้าง มีทั้งลูกค้าประจำที่เป็นชาวไทยและชาวต่างชาติ
- สินค้ามีคุณภาพ ราคาย่อมเยา และสามารถหาซื้อได้ง่าย
- มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับชาวไทย
- มีภาพลักษณ์ที่ดี โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย เพราะใช้สารสกัดจากธรรมชาติ
Weaknesses
- ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของการใช้นวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
- บางคนยังติดภาพลักษณ์ว่าแบรนด์ศรีจันทร์เป็นแบรนด์ที่ดูโบราณอยู่ ถึงแม้ว่าจะรีแบรนด์แล้วก็ตาม
- การตลาดออนไลน์ของแบรนด์ศรีจันทร์ยังไม่แข็งแกร่งเท่าไหร่นัก จึงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร เพราะกลยุทธ์ทางการตลาดยังไม่ชัดเจน
- การออกแบบผลิตภัณฑ์บางรายการอาจจะดูเรียบจนเกินไปและไม่น่าดึงดูดใจ
Opportunities
- ศรีจันทร์สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น จีน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
- มุ่งเน้นไปที่การทำการตลาดที่เจาะกลุ่มเป้าหมายให้หนักขึ้น เพื่อสร้าง Brand Awareness
- โอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับคนกลุ่มใหม่ ๆ เช่น คนแพ้ง่าย คนเป็นสิว หรือเด็ก
- การใช้ Influencer Marketing ในการสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นยอดขาย
Threats
- ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางในประเทศไทยมีการแข่งขันสูง ทั้งจากคู่แข่งที่เป็นบริษัทไทยเองและคู่แข่งที่เป็นบริษัทต่างชาติด้วย
- ตลาดไทยเป็นตลาดที่สร้างมูลค่าที่สูงที่สุดให้แก่แบรนด์ศรีจันทร์ หากเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อเช่นเดิม อาจจะส่งผลต่อยอดขายและรายได้ของบริษัทได้
- มีผลิตภัณฑ์ของศรีจันทร์ถูกลอกเลียนแบบและวางขายอยู่ตามท้องตลาด ซึ่งมีราคาถูกมาก คุณภาพไม่ดี และอันตราย หากมีคนซื้อไปใช้และเกิดอาการแพ้ที่เป็นอันตราย อาจทำให้แบรนด์เสื่อมเสียได้
สรุปตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ธุรกิจของบริษัทศรีจันทร์พบว่าศรีจันทร์มีแบรนด์ดิ้งที่แข็งแกร่ง มั่นคง และมีฐานลูกค้าที่กว้างขวาง สินค้าก็มีคุณภาพ มีราคาย่อมเยา เหมาะกับผู้บริโภคทุกวัย แต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของการตามเทรนด์ความงามไม่ทัน มีการออกแบบที่ยังไม่น่าดึงดูดความสนใจ และการตลาดยังไม่แข็งแรงพอ ทั้งนี้ ศรีจันทร์ก็มีโอกาสในการปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาด ขยับขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตีตลาดกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้
บทสรุป SWOT Analysis ปัจจัยเกี่ยวกับธุรกิจที่ควรศึกษา
เราจะเห็นได้ว่า SWOT Analysis คือเครื่องมือที่มีประโยชน์และส่งผลทางบวกต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก โดย SWOT คือคำย่อที่มาจากปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจ อันประกอบไปด้วย Strength (จุดแข็ง), Weakness (จุดอ่อน), Opportunities (โอกาส) และ Threats (อุปสรรค) ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 นี้จะช่วยให้คุณสามารถกำหนดทิศทางในการทำธุรกิจและวางกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการต่อยอดสิ่งที่ได้จากการทำ SWOT ให้เป็น เลือกวิธีที่ดีที่สุดในการส่งเสริมจุดแข็ง ลบจุดอ่อน และหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากโอกาสมาเอาชนะอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจของคุณเข้าใกล้เส้นชัยมากขึ้นกว่าที่เคยนั่นเอง