Affiliate Marketing คืออะไร? กลยุทธ์การตลาดแบบช่วยขาย ตัวช่วยเพิ่มรายได้ของธุรกิจ
หากพูดถึงการตลาดออนไลน์ สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงก็คือ Social Media Marketing หรือการทำการตลาดบนช่องทาง Social Media ต่าง ๆ เพื่อทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกหนึ่งวิธีการทำตลาดออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตอนนี้ นั่นก็คือ Affiliate Marketing ซึ่งเป็นวิธีที่พบเห็นได้บ่อยตาม Facebook และ Twitter นอกจากนี้ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำการตลาดแบบ Affiliate โดยไม่รู้ตัว
แน่นอนว่าเมื่อ Affiliate Marketing สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างแนบเนียน แบรนด์ต่าง ๆ ที่ใช้กลยุทธ์นี้จึงสามารถสร้างยอดขายกลับมาได้ แต่นอกจากแบรนด์จะได้ประโยชน์จากการใช้กลยุทธ์นี้แล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์เช่นกัน มาถึงตรงนี้ก็คงจะอยากทำความรู้จักกับ Affiliate Marketing กันขึ้นมาแล้วใช่ไหมล่ะ งั้นตามไปดูข้อมูลที่ ANGA รวบรวมมาให้ และไปเริ่มใช้ Affiliate Marketing กับธุรกิจของคุณกันเลย
Affiliate Marketing คืออะไร?
Affiliate Marketing คือ การทำการตลาดออนไลน์แบบพันธมิตร ที่อาศัยตัวแทนในการช่วยขายและโปรโมตสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊คเพจ Influencers หรือ KOLs ผ่านการนำลิงก์สินค้าหรือบริการมาใส่ในคอนเทนต์ของตัวแทน โดยธุรกิจจะให้ค่าตอบแทนในรูปแบบของค่าคอมมิชชัน (Commission) หากทำตามเงื่อนไขที่ธุรกิจกำหนดไว้ได้ ซึ่งการทำ Affiliate จะมีความคล้ายคลึงกับการทำนายหน้าอสังหาฯ ที่จะได้เปอร์เซ็นต์จากการขาย การเช่า หรือการซื้อเป็นค่าตอบแทน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ Affiliate จะต้องทำผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น
องค์ประกอบของการทำ Affiliate Marketing
Seller and product creators
ผู้ขาย ผู้ค้าปลีก หรือเจ้าของธุรกิจที่ว่าจ้างให้ตัวแทนโปรโมตหรือขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ และเป็นผู้จ่ายค่าคอมมิชชันให้กับตัวแทนที่ว่าจ้างมา
The affiliate or Advertiser
ตัวแทน เช่น เฟซบุ๊คเพจ, Influencer, KOLs ที่ถูกว่าจ้างให้ทำการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า ผ่านการโปรโมตสินค้าในช่องทางของตนเพื่อโน้มน้าวให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า และได้รับผลตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชันเมื่อทำได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้
Customer
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ผู้ขาย ผู้ค้าปลีก หรือเจ้าของธุรกิจ ต้องการให้เข้ามาทำความรู้จักแบรนด์ หรือเข้ามาซื้อสินค้าของแบรนด์ ผ่านการคลิกลิงก์ Affiliate ของสินค้าหรือบริการที่โปรโมตจากตัวแทน
ประเภทของ Affiliate Marketing
Unattached Affiliate Marketing
เป็นการทำการตลาด Affiliate แบบไม่ผูกมัด ที่ธุรกิจและตัวแทนไม่ได้รู้จักหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ต่อกันเลย นอกจากนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าจริง และไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับสินค้านั้น แต่เขียนเนื้อหาหรือใช้รูปภาพที่สามารถดึงดูดความสนใจของคนจำนวนมากให้มาซื้อสินค้าหรือบริการของเราได้ ทำให้ธุรกิจสามารถสร้าง Brand Awareness ได้มากขึ้น
นอกจากนี้การยิงแอด Google ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Unattached Affiliate Marketing เช่นกัน แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากจะเป็นการโฆษณาให้เห็นผ่านตาเท่านั้น และไม่สามารถใส่เนื้อหาที่ดึงดูดใจได้มากนัก
Related Affiliate Marketing
เป็นการทำการตลาด Affiliate กับแบรนด์หรือตัวแทนที่มีสินค้า แพลตฟอร์ม หรือเนื้อหาคล้ายคลึงกัน เช่น แบรนด์ต้องการขายเครื่องสำอาง และเลือกตัวแทนที่เป็นเพจสอนแต่งหน้า แล้วทำการแปะลิงก์ Affiliate ไว้ ก็มีโอกาสที่ผู้ติดตามเพจจะคลิกลิงก์นั้นเข้าไปดูหรือซื้อสินค้าตามรีวิวได้ เนื่องจากเพจที่ทำ Affiliate มีความน่าเชื่อถือและมีอิทธิพลต่อผู้ติดตาม
Involved Affiliate Marketing
เป็นการทำการตลาด Affiliate และแบรนด์เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน ผ่านการสนับสนุนบางอย่างซึ่งกันและกัน เช่น หากเราทำธุรกิจทัวร์ และเลือกตัวแทน Affiliate ที่ทำธุรกิจโรงแรม ก็อาจจะมีการว่าจ้างให้นำแบนเนอร์ไปวางในเว็บไซต์ หรือทำข้อเสนอแพ็กเกจ “รับส่วนลดเมื่อจองโรงแรมพร้อมทัวร์” ทำให้ทั้งแบรนด์และตัวแทน Affiliate ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
รูปแบบรายได้ของ Affiliate Marketing
Pay Per Click (PPC)
ตัวแทนจะต้องทำให้กลุ่มคนที่มีโอกาสซื้อสินค้า คลิกลิงก์ Affiliate เข้ามาอ่านรายละเอียดสินค้า ดูสินค้า หรือทำความรู้จักสินค้า ซึ่งอาจทำให้เกิดการซื้อสินค้าขึ้นได้ โดยธุรกิจจะต้องจ่ายค่าคอมมิชชันให้ไม่ว่าจะขายสินค้าได้หรือไม่ก็ตาม
Pay Per Lead (PPL)
เป็นการตามหา Lead หรือกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะซื้อหรือยอมให้ข้อมูลส่วนตัวกับธุรกิจ โดยตัวแทนจะได้รับค่าคอมมิชชันจากธุรกิจก็ต่อเมื่อตัวแทนสามารถทำให้คนมาสมัครหรือลงทะเบียนผ่านลิงก์ Affiliate ได้
Pay Per Sales (PPS)
เป็นรูปแบบที่ธุรกิจจะให้ค่าตอบแทนกับตัวแทนก็ต่อเมื่อมีลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านการคลิกลิงก์ Affiliate ของตัวแทน โดยค่าตอบแทนจะหักจากยอดขายสินค้าออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือตามเงื่อนไขที่ธุรกิจกำหนดไว้
ข้อดี-ข้อเสียของการทำ Affiliate Marketing ทั้งต่อแบรนด์และตัวแทน
ข้อดี-ข้อเสียต่อเจ้าของธุรกิจ
ข้อดี
- ใช้เงินลงทุนไม่มาก ประหยัดกว่าการลงทุนในโฆษณา
- มีผู้ช่วยขายและโปรโมตสินค้า ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักในวงกว้างและมีชื่อเสียงมากขึ้น
- มีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น
- ธุรกิจสามารถกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าตอบแทน หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ได้เอง
ข้อเสีย
- ไม่เหมาะกับธุรกิจที่มีกำไรต่ำ เนื่องจากต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับตัวแทนหลายคน
- ไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมเนื้อหา คอนเทนต์ หรือกลยุทธ์ได้ด้วยตัวเอง
- หากตัวแทนนำลิงก์ Affiliate ใส่ในคอนเทนต์ และนำไปวางบนแฟลตฟอร์มที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็อาจทำให้ได้กลุ่มลูกค้าที่ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้
ข้อดี-ข้อเสียต่อตัวแทนรับทำ Affiliate
ข้อดี
- ไม่จำเป็นต้องสต๊อคสินค้า หรือมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง
- สามารถสร้างรายได้แบบ Passive Income ให้กับตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุน
- สามารถทำงานได้จากทุกที่ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์ม Social Media
ข้อเสีย
- ไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดรายได้ให้เท่ากันทุกเดือนได้
- จำเป็นต้องมีความรู้ในการทำการตลาดออนไลน์ และการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นอย่างดี
- ต้องเข้าใจสินค้าและความต้องการของผู้ซื้อ เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ
- ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เงิน
คำแนะนำในการเริ่มทำ Affiliate Marketing
ศึกษาวิธีทำการตลาดออนไลน์ และสร้างช่องทาง Social Media ขึ้นมา
หากต้องการทำ Affiliate Marketing ควรเริ่มต้นจากการศึกษาวิธีทำการตลาดออนไลน์ด้วยช่องทางต่าง ๆ และเรียนรู้เมตริกที่มีประโยชน์ รวมถึงจำเป็นต่อการวัดผล Affiliate เช่น Traffic, Engagement, Conversion Rate เป็นต้น จากนั้นจึงเริ่มสร้างช่องทาง Social Media ขึ้นมา เช่น บล็อก, เว็บไซต์, เฟซบุ๊คเพจ, Instagram Account, Twitter Account หรือช่องทางอื่น ๆ ที่สามารถใช้ในการโปรโมตสินค้าได้
หา Affiliate Provider
เมื่อศึกษาวิธีทำการตลาดออนไลน์ และมีช่องทาง Social Media เรียบร้อยแล้ว อันดับต่อไปก็ต้องหา Affiliate Provider หรือบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของแบรนด์สินค้ากับตัวแทนที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ เพื่อทำการศึกษาข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนลงมือทำ
สร้างคอนเทนต์ที่จูงใจ และเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการ
สร้างคอนเทนต์เพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการบนช่องทาง Social Media ที่สร้างไว้ และนำลิงก์ Affiliate ที่ได้จาก Affiliate Provider ทำขึ้นมาใส่ในคอนเทนต์
โปรโมตคอนเทนต์
เมื่อเตรียมคอนเทนต์เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องทำการโปรโมตคอนเทนต์ที่มีลิงก์ Affiliate เพื่อให้เกิดยอดคลิก ยอดลงทะเบียน หรือยอดขายตามที่ธุรกิจกำหนดไว้ เช่น การยิงแอด Facebook
และทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ Affiliate Marketing ที่ ANGA รวบรวมมาให้ สำหรับเพจหรือ Influencer ที่อยากมี Passive Income การทำ Affiliate ก็ถือว่าตอบโจทย์เป็นอย่างมาก เพราะไม่ยุ่งยาก และสามารถทำได้ทุกที่ เพียงแต่จะต้องใช้เวลาสักหน่อยกว่าจะได้เงินกลับมา นอกจากนี้หากเป็นเพจหรือ Influencer ที่ยังไม่มีผู้ติดตามมากนัก ก็อาจจะต้องสร้างคอนเทนต์ หรือโปรโมตคอนเทนต์ให้เกิดการแชร์ต่อมากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม และสามารถทำตามเงื่อนไขที่ธุรกิจกำหนดไว้ได้
และสำหรับธุรกิจก็ควรจะศึกษาการทำ Affiliate Marketing ให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน รวมถึงให้ความสำคัญกับการเลือกตัวแทนรับทำ Affiliate ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์กับธุรกิจได้