
นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer) คือใคร ทำหน้าที่อะไรบ้าง
สงสัยไหมว่าโฆษณาที่คุณเห็นบน Facebook TikTok และ Social Media ต่าง ๆ กับหน้าเว็บไซต์ที่แสดงผลขึ้นมาบน Google เมื่อคุณค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ ใครเป็นคนทำกันนะ? แทบจะทุกสิ่งและทุกอย่างที่คุณมองเห็นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ล้วนเป็นสิ่งที่มาจากการทำงานของนักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer) ทั้งสิ้น ในยุคนี้อาชีพนักการตลาดดิจิทัลได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะพวกเขาสามารถทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักและเติบโตได้ ผ่านกลยุทธ์การตลาดที่พวกเขามีความเชี่ยวชาญ ในฐานะที่ ANGA เป็นดิจิทัลเอเจนซี่ที่เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะในบริการรับทำ SEO เราจึงอยากจะชวนคุณมาทำความรู้จักว่าอาชีพนักการตลาดดิจิทัลคืออะไร นักการตลาดดิจิทัลมีหน้าที่อะไรบ้าง นักการตลาดดิจิทัลเงินเดือนเท่าไหร่ ฯลฯ
นักการตลาดดิจิทัลคือใคร
นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer) คือผู้เชี่ยวชาญด้านการทำการตลาดออนไลน์ที่วางแผนและดำเนินการทำงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีการตลาด (MarTech) ที่เหมาะสม นักการตลาดดิจิทัลเป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย ส่งสารที่แบรนด์อยากบอกลูกค้าออกไปผ่านช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานด้วยกลยุทธ์การตลาดที่โดดเด่นเหนือคู่แข่ง และทำให้แบรนด์บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสร้างการรับรู้แบรนด์ สร้างความสัมพันธ์ หรือกระตุ้นยอดขายก็ตาม
คำว่าการตลาดออนไลน์มันกว้างมาก แน่นอนว่านักการตลาดดิจิทัลแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำแค่บางขั้นตอน แต่บางคนอาจจะทำงานครอบคลุมตั้งแต่การวิเคราะห์ การวางกลยุทธ์ การเลือกช่องทาง การสร้างแคมเปญ ไปจนถึงการวัดผลและปรับปรุงเลยก็ได้ สำหรับช่องทางหลักที่นักการตลาดดิจิทัลใช้ในการสื่อสารและเข้ามามีบทบาทอย่างมาก มีดังนี้
- Social Media อย่าง Facebook, Instagram, TikTok, Twitter, LinkedIn, Lemon8 ฯลฯ
- เว็บไซต์และ Blog หรือทำ SEO (Search Engine Optimization)
- โฆษณาออนไลน์ (Google Ads, Facebook Ads, YouTube Ads)
- การตลาดด้วยอีเมล (Email Marketing)
- คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing)
- การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing)
นักการตลาดดิจิทัลมีหน้าที่อะไรบ้าง
การทำงานของนักการตลาดดิจิทัลครอบคลุมหลากหลายด้านในโลกออนไลน์ ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ไปจนถึงการวิเคราะห์ผลลัพธ์ ซึ่งจะต้องผสมผสานความรู้ด้านการตลาดเข้ากับความเข้าใจเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเข้าด้วยกัน ทำให้พวกเขาต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอเพื่อสร้างแคมเปญที่มีประสิทธิภาพ มาทำความเข้าใจอาชีพนี้ให้มากขึ้นว่านักการตลาดดิจิทัลต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง
วางแผนกลยุทธ์การตลาดแบบองค์รวม
นักการตลาดดิจิทัลจะเริ่มจากการตั้งเป้าหมายธุรกิจที่ชัดเจน แล้วออกแบบกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายนั้น พวกเขาต้องเข้าใจตลาด คู่แข่ง และพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี เพื่อสร้างแผนงานที่ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าและธุรกิจ รวมถึงการกำหนดงบประมาณและตัวชี้วัดความสำเร็จที่เหมาะสมด้วย
บริหารแคมเปญบนช่องทางออนไลน์
ด้วยหลายช่องทางออนไลน์ที่มีอยู่ นักการตลาดดิจิทัลต้องเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแคมเปญ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, TikTok หรือเว็บไซต์ พวกเขาต้องออกแบบแคมเปญที่ดึงดูดและกระตุ้นการมีส่วนร่วม โดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละแพลตฟอร์ม
สร้างคอนเทนต์ที่มีคุณค่า
คอนเทนต์คุณภาพคือหัวใจของการตลาดดิจิทัลเลยก็ว่าได้ นักการตลาดต้องสร้างเนื้อหาที่ไม่แค่ดึงดูดความสนใจ แต่ยังให้ประโยชน์กับผู้อ่าน ทั้งบทความ วิดีโอ รูปภาพ หรือพอดแคสต์ เพราะคอนเทนต์ดี ๆ ช่วยสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มการมีส่วนร่วม และทำให้ลูกค้าเข้าใจสินค้าหรือบริการได้ดีขึ้น
ดูแลโซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดีย (Social Media) เป็นช่องทางหลักที่นักการตลาดใช้ในการสื่อสารกับลูกค้า นักการตลาดดิจิทัลต้องดูแลบัญชีโซเชียลขององค์กร ตั้งแต่วางแผนเนื้อหา โพสต์ ตอบคำถาม และจัดการความคิดเห็นต่าง ๆ พวกเขาต้องเข้าใจแต่ละแพลตฟอร์ม และปรับเนื้อหาให้เหมาะกับผู้ใช้ที่แตกต่างกัน
บริหารโฆษณาออนไลน์
โฆษณาออนไลน์ช่วยเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ นักการตลาดดิจิทัลต้องเข้าใจระบบโฆษณาบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ Google Ads หรือ Facebook Ads รู้จักกำหนดงบประมาณ เลือกกลุ่มเป้าหมาย และสร้างโฆษณาที่น่าสนใจ รวมถึงทดสอบและปรับปรุงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
วิเคราะห์ข้อมูลและปรับปรุงกลยุทธ์
ข้อดีของการตลาดดิจิทัลคือวัดผลได้อย่างละเอียด นักการตลาดจึง ต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ เช่น Google Analytics 4 หรืออื่น ๆ เพื่อติดตามผลแคมเปญและพฤติกรรมผู้ใช้ ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้รู้ว่าอะไรได้ผล อะไรต้องปรับปรุง และนำไปพัฒนากลยุทธ์ให้ดีขึ้นได้
ติดตามเทรนด์และนวัตกรรมใหม่ ๆ
โลกดิจิทัลเปลี่ยนเร็วมาก นักการตลาดดิจิทัลต้องคอยอัปเดตความรู้เสมอ ทั้งเทคโนโลยีใหม่ เทรนด์การตลาด และการเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึ่มต่าง ๆ การเรียนรู้ต่อเนื่องช่วยให้แข่งขันได้และนำเสนอกลยุทธ์การตลาดที่ทันสมัยให้กับองค์กร
แนะนำ 8 สายงานของนักการตลาดดิจิทัล
อาชีพนักการตลาดดิจิทัลไม่ได้มีแค่ตำแหน่งเดียว แต่แบ่งออกเป็นหลายสายงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งแต่ละสายงานก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ หลายคนสงสัยว่านักการตลาดดิจิทัลเงินเดือนเท่าไหร่ คำตอบคือขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและประสบการณ์ โดยเริ่มต้นที่ประมาณ 18,000 บาทสำหรับตำแหน่งเริ่มต้น ไปจนถึง 80,000 บาทสำหรับระดับ Senior หรือ Manager ลองมาดูกันว่ามีสายงานไหนที่น่าสนใจและกำลังโอกาสเติบโตในตอนนี้บ้าง
1. Digital Marketing Specialist
ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดดิจิทัลที่ดูแลภาพรวมทั้งหมดของแคมเปญออนไลน์ มีหน้าที่บริหารจัดการทั้งในฝั่งของการทำ SEO, การรันโฆษณา, ดูแลโซเชียลมีเดีย และทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์และเพิ่มยอดขาย ทำงานทั้งวางแผนกลยุทธ์ และลงมือปฏิบัติในหลายด้าน เงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 25,000-60,000 บาทขึ้นอยู่กับประสบการณ์และขนาดบริษัท
2. Social Media Manager
คนที่ดูแลบัญชีโซเชียลมีเดียทั้งหมดของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Lemon8, TikTok หรือ Twitter มีหน้าที่สร้างและโพสต์คอนเทนต์ ตอบคอมเมนต์ วางแผนแคมเปญ และวิเคราะห์ผลลัพธ์ ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้และรู้เทรนด์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 18,000-45,000 บาท
3. Data Analyst
ผู้วิเคราะห์ข้อมูลการตลาดดิจิทัล ช่วยให้ทีมเข้าใจว่าแคมเปญไหนได้ผล อะไรควรปรับปรุง และกลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมอย่างไร ต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์อย่าง Google Search Console หรือ Tableau และมีความรู้ด้านสถิติ ตำแหน่งนี้มีความต้องการสูงเพราะธุรกิจต้องการตัดสินใจจากข้อมูลจริง เงินเดือนประมาณ 30,000-70,000 บาท
4. Paid Media Specialist
ผู้ควบคุมการลงโฆษณาแบบเสียเงินบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น TikTok Ads, Google Ads, Facebook Ads หรือ LINE Ads มีหน้าที่วางแผนงบประมาณ เลือกกลุ่มเป้าหมาย ออกแบบโฆษณา และวัดผลเพื่อให้คุ้มค่าที่สุด ต้องรู้จักทดสอบและปรับแคมเปญเพื่อลดต้นทุนต่อการได้ลูกค้า เงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 25,000-60,000 บาท
5. SEO Specialist
ทำหน้าที่ปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับบนผลการค้นหาของ Google โดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณา นักทำ SEO ต้องรู้จักวิเคราะห์คีย์เวิร์ด สร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และแก้ไขปัญหาทางเทคนิคของเว็บไซต์ให้ถูกใจ Google ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นที่ต้องการมากเพราะช่วยประหยัดงบโฆษณาในระยะยาว เงินเดือนประมาณ 20,000-50,000 บาท
6. Content Creator/Writer
คนที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์เนื้อหาให้น่าสนใจและมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นบทความ บล็อก วิดีโอ รูปภาพ หรืออินโฟกราฟิก เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายและสร้างการมีส่วนร่วม ต้องมีทักษะการเล่าเรื่องที่ดีและเข้าใจหลัก SEO เพื่อให้คอนเทนต์ได้ผลทั้งกับคนอ่านและ Google เงินเดือนประมาณ 20,000-40,000 บาท
7. E-commerce Manager
ผู้จัดการร้านค้าออนไลน์และช่องทางขายทั้งหมด ตั้งแต่เว็บไซต์ของแบรนด์เองไปจนถึงมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee หรือ Lazada มีหน้าที่ดูแลรายการสินค้า โปรโมชัน การจัดส่ง และวางแผนกลยุทธ์เพิ่มยอดขาย ตำแหน่งนี้ต้องเข้าใจทั้งการตลาดและการขาย เงินเดือนประมาณ 35,000-80,000 บาท
8. UX/UI Designer
นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้และหน้าตาของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เพื่อให้ใช้งานง่ายและน่าสนใจ ช่วยเพิ่มอัตราการเปลี่ยนผู้เข้าชมให้กลายเป็นลูกค้า ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้และมีทักษะการออกแบบที่ดี สายงานนี้เป็นที่ต้องการเพราะประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดีช่วยเพิ่มยอดขายได้อย่างมาก เงินเดือนประมาณ 30,000-70,000 บาท
คุณสมบัติของนักการตลาดดิจิทัล
- สื่อสารได้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ สามารถอธิบายแนวคิดให้ทีมงานและลูกค้าเข้าใจง่าย เขียนคอนเทนต์ที่กระชับและน่าสนใจ
- ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ประสานงานกับทีมต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงงาน
- แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันทีเมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาด คิดหาทางออกเมื่อเจอความท้าทาย
- เชี่ยวชาญในหลากหลายแพลตฟอร์ม ใช้งานโซเชียลมีเดียได้หลายช่องทาง รู้จุดแข็งของแต่ละแพลตฟอร์มและเลือกใช้ให้เหมาะกับงาน
- ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีที่สิ้นสุด คิดนอกกรอบและสร้างแคมเปญที่แปลกใหม่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ ผลิตคอนเทนต์ที่โดดเด่นและสร้างความประทับใจให้ผู้ชม
- เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในโลกดิจิทัล รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายแต่ละแพลตฟอร์มมีพฤติกรรมอย่างไร ปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่แตกต่างกันได้
- มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ อ่านตัวเลขและสถิติจากแคมเปญแล้วนำมาปรับปรุงกลยุทธ์ได้ ใช้เครื่องมือวิเคราะห์พื้นฐานได้คล่องแคล่ว
- ตามทันเทคโนโลยีและเทรนด์ตลอดเวลา สนใจเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่พลาดการอัปเดตของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
- จัดการเวลาและทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้ บริหารหลายแคมเปญในหลายช่องทางได้ดี จัดลำดับความสำคัญให้งานเสร็จตามกำหนด
บทสรุป
พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ มีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการค้นหาข้อมูลหรือรับข่าวสารกันเป็นประจำ นอกจากแพลตฟอร์มเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ก็มีธุรกิจเปิดใหม่มาแข่งขันในอุตสาหกรรมมากขึ้นทุกปีด้วย นักการตลาดดิจิทัลจะเป็นคนที่ทำให้ธุรกิจของคุณเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ และผลักดันให้ธุรกิจของคุณเติบโตตามกลยุทธ์ที่พวกเขาต้องการ แต่ผลลัพธ์จะดีขึ้นหรือแย่ลง แม่นยำมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของนักการตลาดดิจิทัลแต่ละคน อย่าง ANGA เองก็เป็นดิจิทัลเอเจนซี่ที่รวบรวมนักการตลาดดิจิทัลที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ เอาไว้มากมาย ที่มีจุดเด่นในบริการรับทำ SEO และการทำ Performance Marketing เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง

จดโดเมน .co.th ทำอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง จดที่ไหนดี 2025
