1. หน้าหลัก
  2. อัปเดตการตลาด
  3. Imposter Syndrome ต้องพยายามแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเก่ง?
เผยแพร่เมื่อ: กุมภาพันธ์ 16, 2024 | แก้ไขเมื่อ: กุมภาพันธ์ 20, 2024

Imposter Syndrome ต้องพยายามแค่ไหน ถึงจะเรียกว่าเก่ง?

Table Of Contents

Imposter Syndrome เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมามากน้อยแค่ไหนก็ตาม เคยไหม? ผลงานออกมาดีเกินคาด ส่วนผลลัพธ์ก็ออกมาดีจนมีแต่คนชื่นชม แต่ตัวเรากลับไม่ได้รู้สึกยินดีหรืออยากจะยื่นอกรับความสำเร็จนั้นอย่างภาคภูมิใจ มักจะคิดอยู่เสมอว่าความสำเร็จที่ได้มาล้วนมาจากโชคช่วยหรือผู้อื่นเสียมากกว่า ไม่ได้มาจากตัวเราเองจริง ๆ ซึ่งถ้าคุณกำลังเผชิญกับความคิดและความรู้สึกเช่นนี้อยู่ ไม่แน่ว่าคุณอาจกำลังตกอยู่ในสภาวะของ Imposter Syndrome อยู่ก็เป็นได้

ใครที่กำลังสงสัยอยู่ว่า Imposter Syndrome คืออะไร? “Imposter” ในที่นี้ เหมือนกับ Imposter ในเกม Among US ไหม? แองก้าขออธิบายว่า Imposter ในเกม Among US หมายถึงคนหลอกลวง คอยหลอกลวงผู้อื่น และปิดบังความผิดของตัวเองไว้ แต่ Imposter ใน “Imposter Syndrome” หมายถึงคนที่หลอกตัวเองว่าเราไม่เก่งอะไรเลยและไม่ควรค่าแก่ความสำเร็จนั่นเอง

Imposter Syndrome คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด และมีวิธีเอาชนะ Imposter Syndrome เพื่อกอบกู้คุณค่าและความมั่นใจของตัวเองหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบครบ! ลองไปอ่านทำความเข้าใจกันได้เลย

Imposter Syndrome คือ

Imposter Syndrome คืออะไร?

Imposter Syndrome คือภาวะที่คนเรารู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอที่จะได้รับความสำเร็จใด ๆ ซึ่งเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” โดยภาวะนี้ถูกนับว่าเป็นภาวะทางจิตใจชนิดหนึ่ง หากเป็นมาก ๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจจนนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่มีกับคนรอบข้าง และประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย

คำว่า Imposter Syndrome ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1978 โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่มีนามว่า Suzanne Imes และ Pauline Rose Clance ซึ่งทั้งสองคนนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับความคิดของกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ ที่ลึก ๆ ในใจกลับรู้สึกไม่คู่ควรกับผลตอบแทนที่ได้มาก เพราะคิดว่าตัวเองสำเร็จได้เพราะโชคช่วย ไม่ใช่จากความสามารถจริง ๆ และตีพิมพ์ออกมาเป็นงานวิจัยที่ชื่อว่า “The Imposter Phenomenon” ทำให้คำนี้ถูกใช้เรียกคนกลุ่มนี้ตั้งแต่นั้นมา

Imposter Syndrome เกิดจากอะไร?

Imposter Syndrome ถูกพบมากในหมู่วัยทำงานที่มีอายุ 24-30 ปี จากการวิจัยในวารสาร Psychological Bulletin ที่ตีพิมพ์ในปี 2011 พบว่า Imposter Syndrome มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบมากในหมู่คนที่ทำอาชีพเป็น นักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ และนักศึกษาระดับปริญญาเอก โดยมีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งประสบการณ์ในอดีตที่เคยพบเจอมา, การเลี้ยงดูของคนในครอบครัว, บุคลิกภาพส่วนตัว และยังรวมไปถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น

  • การถูกเลี้ยงดูด้วยความกดดัน พ่อแม่คาดหวังสูง หรือถูกพ่อแม่ตำหนิอยู่บ่อย ๆ 
  • ถูกเปรียบเทียบกับพี่น้อง ญาติ หรือผู้อื่นมากตั้งแต่เด็ก ๆ 
  • เคยถูกกลั่นแกล้ง ตำหนิ หรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
  • มีบุคลิกภาพขี้กังวล เป็นคนคิดมาก เก็บทุกอย่างมาคิด

รู้จักประเภทของ Imposter Syndrome

ประเภทของ Imposter Syndrome

Imposter Syndrome สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. Perfectionist

Perfectionist คือคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ ทำงานหนักเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุด กลัวความผิดพลาด กลัวความล้มเหลว มักจะนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ชอบตั้งคำถามกับตัวเอง ถึงแม้ตัวเองจะประสบความสำเร็จไปแล้ว 99% แต่ก็ยังมองว่าตัวเองล้มเหลวเพราะยังมี 1% ที่เหลืออยู่

2. Natural Genius

Natural Genius คือคนที่มีพรสวรรค์ในด้านนั้น ๆ (หัวกะทิ) เป็นคนที่กดดันตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวตัวเองจะเสียความสำเร็จไป มักจะบอกตัวเองอยู่เสมอว่ายังไม่เก่งพอเลยต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

3. Superhuman

Superhuman คือคนที่มองว่าตัวเองต้องทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด ประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องความรัก หรือเรื่องอื่น ๆ ก็ตาม และไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งบางคนมีความมุ่งมั่นมากจนไม่สามารถแยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวได้เลย หรือที่เรารู้จักกันว่า “Work ไร้ Balance” ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ Work Life Balance ที่หลาย ๆ คนต้องการ

4. Soloist

Soloist เป็นคนที่ชอบทำงานคนเดียว ไม่ต้องการความช่วยเหลือของคนอื่น และไม่ต้องการให้คนอื่นยื่นมือมาช่วย อยากพึ่งพาแต่ตัวเองเท่านั้น แม้จะรู้สึกโดดเดี่ยวก็ตาม หากทำด้วยตัวเองไม่ได้ก็จะมองว่าตัวเองไม่เก่งเอาเสียเลย

5. Expert

Expert คือคนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพของตัวเอง แต่ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเก่งพอ คิดว่าความสำเร็จที่ได้มาจากความโชคดี ซึ่งถึงแม้จะรู้จักเรื่องนั้น ๆ ดีอยู่แล้ว แต่ก็จะคอยหาอยู่เสมอว่าตัวเองยังไม่รู้อะไร และจะรู้สึกกลัวมากว่าคนอื่นจะมองว่าตัวเองไม่รู้จริง

โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง

วิธีเอาชนะภาวะ Imposter Syndrome

คนที่มีกำลังเผชิญกับภาวะ Imposter Syndrome จะมองว่าตัวเองเป็น “ตัวปลอม” ที่ไม่เก่งจริง ดังนั้น วิธีรับมือและเอาชนะภาวะ Imposter Syndrome เพื่อให้คุณมองตัวเองเป็น “ตัวจริง” และรู้ว่าตัวเองมีคุณค่ามากเพียงใด นั่นคือการเปลี่ยนความคิดใหม่นั่นเอง เอาล่ะ! ว่าดูวิธีเอาชนะพร้อมกับนำสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้ คิดตาม และตอบคำถามตัวเองได้เลย!

  • หาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งหรือกลัวอะไร
  • เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หยุดกดดันตัวเอง
  • เรียนรู้ไปทีละขั้นตอนและสะสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องรีบประสบความสำเร็จ
  • เปลี่ยนความคิดจาก “ฉันไม่เก่ง” เป็น “ฉันสามารถเรียนรู้และพัฒนาให้เก่งได้”
  • ให้กำลังใจตัวเองและชื่นชมตัวเองบ่อย ๆ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม
  • จดบันทึกความสำเร็จของตัวเองไว้ และกลับมาทบทวนเมื่อเวลาผ่านไป
  • รักตัวเองให้มากขึ้น ใส่ใจความรู้สึกตัวเองมากขึ้น และมองว่าตัวเองมีคุณค่าไม่แพ้ใคร
  • ยอมรับความช่วยเหลือหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นบ้าง
  • ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้และค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้น อย่าตั้งเป้าหมายสูง ๆ ตั้งแต่แรก

บทสรุป

Imposter Syndrome คือภาวะทางจิตอย่างหนึ่งและไม่ได้ถูกจัดเป็นโรคแต่อย่างใด ใครที่รู้สึกว่าตัวเองเป็น  Imposter Syndrome ลองปรับวิธีคิดด้วยวิธีต่าง ๆ ที่เราได้แนะนำไปในบทความนี้ดูก่อน หากยังไม่ดีขึ้นตามที่หวังไว้ ทางที่ดีที่สุดคือการพูดคุยปรึกษากับจิตแพทย์โดยตรง ก่อนที่อาการของคุณจะหนักจนลุกลามเป็นโรคซึมเศร้าในท้ายที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

HubSpot คืออะไร? ช่วยดูแลธุรกิจ ครบจบในตัวเดียวจริงไหม?

สำหรับการทำธุรกิจในยุคนี้ ทีมที่องค์กรขาดไปไม่ได้เลยคือทีมการตลาดและทีมขาย ทั้งสองทีมนี้ต้องทำงานร่วมกัน ในการดึงลูกค้าเข้ามาและปิดการขาย แต่ด้วยความที่ต่างทีมต่างมีลำดับขั้นตอนและรายละเอียดของเนื้องา
38

Google Analytics 4 คืออะไร ต่างจากเวอร์ชันเก่าอย่างไร

Google Analytics (GA) เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมาก สำหรับนักการตลาดและแบรนด์ที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพราะ GA จะช่วยให้คุณรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้งานบนเว็บไซต์มากขึ้น และทำให้คุณได้ข้อมูล
26

Technical SEO คืออะไร? กับ 8 เทคนิคการปรับปรุงฉบับพื้นฐาน

Search Engine Optimization (SEO) เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับบน Google ได้อย่างยั่งยืนและนำมาซึ่งผลลัพธ์ด้านการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งการทำ SEO จะประกอบไปด้วยฝั่งของ On-Page S
32
th