1. หน้าหลัก
  2. อัปเดตการตลาด
  3. วิเคราะห์เป้าหมายด้วย Heatmap Analysis
เผยแพร่เมื่อ: มีนาคม 9, 2022 | แก้ไขเมื่อ: เมษายน 28, 2023

วิเคราะห์เป้าหมายด้วย Heatmap Analysis

Table Of Contents

เคยสงสัยไหมว่า เวลาที่ผู้ใช้งานเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา พวกเขาทำอะไรกับเว็บไซต์ของเราบ้าง ให้ความสนใจส่วนไหนของเว็บไซต์เป็นพิเศษ แล้วรูปเว็บไซต์ที่ออกแบบไปนั้นตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้และความต้องการของเราหรือเปล่า ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถตรวจสอบได้ด้วย “Heatmap Analysis” เครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ โดดเด่นในด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมบนเว็บไซต์ของผู้ใช้งาน

heatmap analysis

Heatmap Analysis คืออะไร

Heatmap Analysis คือ เครื่องมือวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ โดยจะแสดงผลออกมาในลักษณะของการแคปเจอร์ภาพหน้าเว็บไซต์ ซึ่งบนรูปภาพจะมีเฉดสีต่าง ๆ  ไล่จากเฉดสีโทนเย็นไปจนถึงเฉดสีโทนร้อนปรากฏขึ้นอยู่บนรูปภาพ ยิ่งบริเวณไหนที่มีผู้ใช้งานให้ความสนใจ หรือมีการกดดูเป็นจำนวนมาก บริเวณนั้นก็จะยิ่งมีเฉดสีโทนร้อนปรากฏอยู่ แต่ถ้าบริเวณไหนที่ไม่มีผู้คนสนใจก็อาจจะมีเฉดโทนสีเย็นปรากฏอยู่เล็กน้อย หรือไม่มีเฉดสีใดปรากฏขึ้นเลยก็ได้

การเก็บข้อมูลของ Heatmap Analysis จะแตกต่างกันไปตามอุปกรณ์ของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ หากผู้ใช้งานเข้ามาในเว็บไซต์ด้วยคอมพิวเตอร์ Heatmap Analysis จะเก็บข้อมูลจากการเคลื่อนที่ของเมาส์เคอร์เซอร์ (Mouse Cursor) แต่ถ้าหากผู้ใช้งานเข้ามาด้วยสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต Heatmap Analysis จะเก็บข้อมูลจากตำแหน่งนิ้วมือที่สัมผัสกับหน้าจอขณะเยี่ยมชมเว็บไซต์

ข้อดีของการใช้ Heatmap คือ สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเว็บไซต์ก็ตาม เพราะมีลักษณะการแสดงผลคล้ายกับแผนภูมิความร้อน หรือกล้องตรวจจับความร้อน ที่แสดงผลการตรวจจับอุณหภูมิออกมาในรูปแบบของเฉดสีต่าง ๆ ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี เพราะมักเห็นในภาพยนตร์บ่อย ๆ หรือบริเวณที่คัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ต่าง ๆ นั่นเอง

ประโยชน์ของการทำ Heatmap Analysis

Heatmap Analysis สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ได้ 3 รูปแบบหลัก ๆ คือ Scroll Maps การเลื่อนดูหน้าเว็บไซต์ Move Maps การเคลื่อนไหวของเมาส์เคอร์เซอร์บนหน้าเว็บไซต์ และ Click Maps การกดหรือคลิกบนเว็บไซต์ ซึ่งทั้ง 3 พฤติกรรมนี้สามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกับ Google Analysis เพื่อพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ได้อย่างหลากหลาย เช่น

  • ผู้ใช้งานบนเว็บไซต์มองเห็นข้อมูลส่วนสำคัญหรือไม่ โดยดูผลจาก Scroll Maps ของผู้ใช้งานว่ามีเฉดสีปรากฏตรงข้อมูลส่วนสำคัญหรือเปล่า หากไม่มีเฉดสี หรือมีเฉดสีเย็น ก็แสดงว่าข้อมูลส่วนสำคัญอยู่ลึกเกินไป หรือเนื้อหาบนเว็บไซต์ไม่น่าสนใจพอที่จะดึงดูดให้ผู้ใช้งานอ่านไปจนถึงข้อมูลสำคัญ
  • ผู้ใช้งานให้ความสนใจกับเนื้อหาที่เราต้องการสื่อหรือไม่ โดยดูผลจาก Move Maps ที่จะจับการเคลื่อนไหวของเมาส์เคอร์เซอร์ เพราะโดยปกติแล้ว เวลาที่ผู้ใช้งานอ่าน หรือให้ความสนใจสิ่งใด ก็จะเลื่อนเมาส์เคอร์เซอร์ไปยังบริเวณนั้น ๆ
  • ผู้ใช้งานคลิกจุดสำคัญบนเว็บไซต์หรือไม่ โดยดูผลจาก Click Maps ซึ่งบอกได้ทั้งผลการทำงานของ Call to Action (CTA) และบอกได้ว่า ผู้ใช้งานชอบคลิก หรือกดส่วนไหนบนเว็บไซต์เป็นพิเศษ

จากประโยชน์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า Heatmap Analysis สามารถช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานเว็บไซต์ได้ละเอียดขึ้นกว่าเดิม นอกจากนักการตลาดจะสามารถนำข้อมูลไปปรับใช้ในการสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจแล้ว นักพัฒนาเว็บไซต์ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้จาก Heatmap ไปปรับปรุง Website และจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น แบนเนอร์โฆษณาที่มาจากบริการทำ Google Display Network หรือบริการทำ Google Discovery Ads รูปภาพ หรือปุ่ม CTA ให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้ใช้งานเว็บไซต์มากที่สุดด้วย

ประเภทของ Heatmap Analysis

Heatmap Analysis แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามความสามารถในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานบนเว็บไซต์อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น ซึ่งแต่ละประเภทจะแสดงผลออกมาเป็นเฉดสีเดียวกัน แต่มีลักษณะที่แตกต่างต่างกัน ดังนี้

1. Scroll Maps

Scroll Maps คือ การเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเลื่อนดูหน้าเว็บไซต์ของผู้ใช้งานว่ามีการเลื่อนดูไปจนถึงจุดไหน โดยจะแสดงออกมาเป็นเฉดสีทั้งหน้าจอ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ด้านบนสุดของเว็บไซต์จะมีเฉดสีโทนร้อนสุด เช่น สีแดง สีส้ม แล้วค่อย ๆ ลดระดับลงเป็นสีโทนเย็น ได้แก่ สีเขียว สีน้ำเงิน สีเทา ไปจนถึงไม่มีสีเลย

2. Move Maps

Move Maps คือ การเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของเมาส์เคอร์เซอร์ สามารถเก็บได้เฉพาะข้อมูลบนหน้า Desktop หรือการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น โดยจะแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นจุดวงกลมกระจายไปตามหน้าจอ บริเวณไหนที่มีเมาส์เคอร์เซอร์เลื่อนผ่านบ่อย ๆ ก็จะมีสีแดง หรือสีส้ม แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้งานสนใจข้อมูลในบริเวณนั้นนั่นเอง

3. Click Maps

Click Maps คือ การเก็บข้อมูลการคลิกบนหน้าเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นการคลิกด้วยเมาส์เคอร์เซอร์ หรือกดด้วยนิ้วมือก็ตาม โดยจะแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นจุดวงกลมที่มีเฉดสีต่าง ๆ เหมือนกับการแสดงผลของ Move Maps

ทำความเข้าใจกับสีของ Heatmap บนหน้า Website

Heatmap บนหน้า Website จะแสดงข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ผ่านสีต่าง ๆ  โดยบริเวณไหนที่มีผู้ใช้งานสนใจมากจะมีเฉดสีโทนร้อน แต่ถ้าบริเวณไหนมีผู้ใช้งานสนใจน้อยจะมีเฉดสีโทนเย็น โดยเรียงระดับจากมากไปน้อย ดังนี้

  • – สีเทา (Gray) 0 – 2.5%
  • – สีน้ำเงิน (Blue) 2.5 – 12.5%
  • – สีน้ำเงินอมเขียว (Teal) 12.5 – 30%
  • – สีเขียว (Green) 30 – 50%
  • – สีเหลือง (Yellow) 50 – 70%
  • – สีส้ม (Orange) 70 – 90%
  • – สีแดง (Red) 90 – 100%

Programs และเครื่องมือสำหรับทำ Heatmap Analysis

ในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการเครื่องมือสำหรับทำ Heatmap Analysis หลายราย ซึ่งโปรแกรม Heatmap ของแต่ละ Website จะให้บริการฟังก์ชันพื้นฐานคล้ายคลึงกัน แต่จะมีข้อแตกต่างกันในด้านราคาและเครื่องมือการใช้งานเชิงลึก ดังนี้

1. Hotjar

Hotjar มีเครื่องมือสำหรับทำ Heatmap Website ค่อนข้างครบถ้วน และออกแบบมาให้ใช้งานง่ายมาก โดยสามารถเลือกได้เลยว่าจะดูผล Scroll Maps, Move Maps หรือ Click Maps จากผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ที่เข้ามาด้วยอุปกรณ์ใด

นอกจากนี้ Hotjar ยังมีฟังก์ชัน Recording ที่จะทำให้คุณสามารถดูพฤติกรรมผู้เข้าชมเว็บไซต์รายบุคคลตั้งแต่ต้นจนจบ ราวกับไปยืนดูอยู่ด้านหลังของผู้เข้าชมเว็บไซต์ขณะใช้งานเว็บไซต์แบบเรียลไทม์ ช่วยให้รู้ข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกของผู้ใช้งานได้ และยังมีฟังก์ชันอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การเก็บความพึงพอใจ หรือการทำโพลสอบถามความคิดเห็น

หากสนใจ คุณสามารถทดลองใช้งานโปรแกรมทำ Heatmap ของ Hotjar ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่จะสามารถเก็บ Session ได้น้อย และสามารถใช้ได้แค่ฟังก์ชันพื้นฐานเท่านั้น หากต้องการใช้งาน Heatmap อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะต้องอัปเกรดแผนราคา ซึ่งจะมีให้เลือกหลายราคาด้วยกัน คุณสามารถประเมินค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมได้จากการคำนวณ Session ต่อวันในเว็บไซต์ที่จะติดตั้ง Heatmap ซึ่งสามารถกรอกตัวเลขบนเว็บไซต์ของ Hotjar ได้เลย

2. Ptengine

Ptengine เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์ (Web Analysis Tool) ที่น่าสนใจ และมีบริการ Heatmap ที่มีเครื่องมือครบครันเหมือนกับ Hotjar โดยจุดเด่นของ Ptengine จะสามารถเปรียบเทียบผลของการทำ Heatmap 2 เวอร์ชันบนหน้าเว็บไซต์ได้ ช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าเวอร์ชันไหนบนเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด แต่จะไม่มีฟังก์ชันเสริมอยากการทำโพล หรือสำรวจความคิดเห็น

Ptengine สามารถทดลองใช้บริการ Heatmap โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ โดยสามารถใช้ทำได้ 1 Heatmap เก็บข้อมูลได้ 3,000 Pageviews ต่อวัน แต่ถ้าต้องการใช้ Heatmap อย่างเต็มประสิทธิภาพ เก็บข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น สามารถอัปเกรดสมาชิกเป็น Growth หรือ Premium ได้

3. Google Analytic Heatmap

Google Analytic ก็มีเครื่องมือสำหรับทำ Heatmap บนเว็บไซต์เช่นกัน โดยจะมีชื่อเรียกว่า “Page Analytics (by Google)” ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบ Extension ซึ่งสามารถติดตั้งลงบน Chrome ได้เลย Page Analytics นั้นสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานเว็บไซต์พื้นฐานได้เหมือนกับ Heatmap เจ้าอื่น ๆ เลย แต่จะแสดงผลออกมาในรูปแบบของตัวเลข

การศึกษาพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายด้วย Heatmap Analysis

Heatmap Analysis เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้รู้ข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์อย่างละเอียด ตั้งแต่เริ่มเข้ามาในเว็บไซต์จนถึงตอนกดออกจากเว็บไซต์แบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ร่วมกับ Google Analysis เพื่อนำมาพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์แบบ E-Commerce หรือเว็บไซต์ทั่วไป ก็ไม่ควรที่จะละเลยเครื่องมือนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

HubSpot คืออะไร? ช่วยดูแลธุรกิจ ครบจบในตัวเดียวจริงไหม?

สำหรับการทำธุรกิจในยุคนี้ ทีมที่องค์กรขาดไปไม่ได้เลยคือทีมการตลาดและทีมขาย ทั้งสองทีมนี้ต้องทำงานร่วมกัน ในการดึงลูกค้าเข้ามาและปิดการขาย แต่ด้วยความที่ต่างทีมต่างมีลำดับขั้นตอนและรายละเอียดของเนื้องา
37

Google Analytics 4 คืออะไร ต่างจากเวอร์ชันเก่าอย่างไร

Google Analytics (GA) เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมาก สำหรับนักการตลาดและแบรนด์ที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เพราะ GA จะช่วยให้คุณรู้จักกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้งานบนเว็บไซต์มากขึ้น และทำให้คุณได้ข้อมูล
26

Technical SEO คืออะไร? กับ 8 เทคนิคการปรับปรุงฉบับพื้นฐาน

Search Engine Optimization (SEO) เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะช่วยให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับบน Google ได้อย่างยั่งยืนและนำมาซึ่งผลลัพธ์ด้านการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งการทำ SEO จะประกอบไปด้วยฝั่งของ On-Page S
31
th